นอกจากนโยบาย ‘ลดเวลาเรียน เพิ่มความรู้’ แล้ว ล่าสุดกระทรวงศึกษาธิการกำลังพิจารณาการนำนโยบาย ‘ตกซ้ำชั้น’ กลับมาใช้อีกด้วย ซึ่งแน่นอนว่าการต้องเสียเวลามานั่งเรียนใหม่นั้นเป็นคำขู่ที่ได้ผลดีกว่าไม้เรียวแน่นอน
ปกติแล้วหากนักเรียนสอบตกวิชาไหนก็เพียงแค่ทำงานส่ง หรือสอบซ่อมตามแต่ผู้สอนจะมอบหมาย ซึ่งบางวิชาไม่ต้องทำอะไรมากก็ผ่านได้ง่ายๆ ทำให้นักเรียนจอมขี้เกียจทั้งหลายได้ใจ ขาดความกระตือรือร้นในการพัฒนาตนเอง เพราะถ้าสอบตกก็แค่ซ่อมใหม่ นำไปสู่ปัญหาหลายๆ อย่าง เช่นการขาดทักษะที่จำเป็นในการเรียนชั้นที่สูงขึ้น ดังนั้นนโยบายนี้จึงน่าสนใจไม่น้อย
ตามนโยบาย นักเรียนจะซ้ำชั้นได้ก็ต่อเมื่อมีระดับผลการเรียนเฉลี่ยต่ำกว่า 1 ไม่ใส่ใจกับการเรียน และคณาจารย์ต่างเห็นชอบว่าไม่สมควรจะปล่อยให้ผ่านไปเนื่องจากจะยิ่งมีปัญหาในการเรียนระดับที่สูงขึ้น โดยจะยกผลการเรียนเดิม และเริ่มเรียนใหม่แทน
แต่ก็ยังน่าห่วงว่าหากนำนโยบายนี้มาใช้จริงๆ จะกลายเป็นการสร้างปมด้อยและบาดแผลทางใจให้กับนักเรียนที่สอบตก ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น เกิดความเครียด ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง นำไปสู่พฤติกรรมในทางลบต่างๆ หรืออาจถึงขั้นตัดสินใจลาออกกลางคันเพื่อจะได้ไม่ต้องเจอกับสภาวะการซ้ำชั้น
นอกจากนี้ทางยูเนสโกยังเคยทำการวิจัยเกี่ยวกับการเรียนซ้ำชั้น หรือ Grade Repetition โดยคุณ Jere Brophy ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบค้นพบว่า แม้ผลการเรียนอาจดีขึ้นจริง แต่กลับไม่ส่งผลดีในระยะยาว เนื่องจากการเรียนซ้ำขั้นไม่ใช่การแก้ปัญหาความอ่อนในด้านทักษะการเรียนของเด็ก ปัญหาจึงไม่ได้รับการแก้อย่างถูกจุด
น่าสงสัยว่านโยบายนี้จะได้รับการอนุมัติมั้ย และถ้าเกิดว่าได้นำกลับมาใช้จริงๆ จะเกิดผลอย่างไรขึ้น หรือจะช่วยให้การศึกษาไทยเดินหน้า หรือถอยหลังอย่างไรบ้าง
แต่ที่แน่ๆ ไม่ว่านโยบายซ้ำชั้นจะถูกนำกลับมาใช้จริงหรือไม่ ก็ควรจะเอาใจใส่กับการเรียนให้มากๆ นะจ๊ะ อิอิ
ที่มา: TeenMThai