ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยสุรนารี (มทส.)ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)กล่าวภายหลังการประชุมเพื่อกำหนดมาตรการร่วมกันในการช่วยเหลือ แก้ไข ฟื้นฟู เยียวยาผู้ประสบมหาอุทกภัย เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าทปอ.ได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยแบ่งเป็น1.มาตรการเร่งด่วนของการเสนอเป็นที่พักพิงปัจจุบันมหาวิทยาลัยและสถาบันสมาชิก ทปอ.ได้เป็นศูนย์พักพิงให้กับผู้ประสบอุทกภัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
ขณะนี้ มหาวิทยาลัยที่อยู่ในรัศมีประมาณ 100 กิโลเมตรและมากกว่าเล็กน้อยได้ดำเนินการเร่งด่วน เช่นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) รับผู้ประสบภัยได้ 1,000 คนสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) รับได้ 600 คน มหาวิทยาลัยบูรพาจังหวัดชลบุรี รับผู้อพยพได้300 คน มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์จังหวัดนครปฐม และวิทยาเขตสารสนเทศ จังหวัดราชบุรี รับผู้ประสบอุทกภัย 500 คนสำหรับการแก้ไขปัญหาเรื่องสัตว์เลี้ยง และปศุสัตว์ ขณะนี้คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ กำลังประชุมหารือกันเพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือต่อไป
มาตรการช่วยเหลือนักเรียน นิสิต นักศึกษาในส่วนการจัดทดสอบความถนัดทั่วไปหรือ แกต และความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการหรือแพตเลื่อนมาเป็นวันที่ 19 – 20 และ วันที่ 26 – 27 พฤศจิกายน 2554 และการสอบรายวิชาสามัญ 7 วิชา ที่กำหนดไว้วันที่ 7-8 มกราคม 2555 และการจัดสอบของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.)ประกาศเลื่อนสอบวิชาเฉพาะจากเดิมวันที่ 5พฤศจิกายน ไปเป็นวันที่ 25 ธันวาคมนั้นทปอ. จะได้ร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณากำหนดการสอบต่าง ๆ ต่อไป
ส่วนการเลื่อนเปิด – ปิดภาคเรียนของมหาวิทยาลัยต่าง ๆขอให้เป็นดุลพินิจและเอกสิทธิ์ของแต่ละมหาวิทยาลัยการยกเว้นหรือผ่อนผันค่าลงทะเบียนและค่าธรรมเนียมการศึกษามหาวิทยาลัย/สถาบันสมาชิกทปอ. ทั้ง 27 แห่ง จะพิจารณาเป็นพิเศษสำหรับนิสิต นักศึกษาที่ประสบอุทกภัยรวมทั้งการจัดสรรทุนช่วยเหลือค่าครองชีพและ3.มาตรการช่วยเหลือภายหลังสถานการณ์ดีขึ้น ทาง ทปอ. มีแผนฟื้นฟูระยะยาวโดยจัดตั้งคณะทำงานที่มีความรู้ ความสามารถในแต่ละสาขาวิชา เพื่อการพัฒนาฟื้นฟูในด้านต่างๆ
ทั้งนี้ ทปอ. จะจัดตั้งฟอรั่มการบริหารจัดการ และการป้องกันอุบัติภัย (Disaster Management and Prevention Forum) และตั้งคณะทำงานซึ่งเป็นนักวิชาการดำเนินการศึกษาวิเคราะห์และวิจัย เพราะเรื่องภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Chang) และภาวะโลกร้อน (Global Warming) มนุษยชาติคงต้องเผชิญต่อไปอีกหลายปีประสบการณ์มหาอุทกภัยที่คนไทยได้รับในปีนี้น่าจะเป็นบทเรียนให้เกิดการศึกษาเพื่อกำหนดเป็นยุทธศาสตร์มาตรการป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำอีกในอนาคต
“ทปอ. จะสนับสนุนงบประมาณในลักษณะที่เป็นการดำเนินงานของคณะทำงาน เช่นค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายในการประชุม เป็นต้น แต่สำหรับเรื่องครุภัณฑ์ต่าง ๆ ยังต้องขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลอยู่ และในระยะยาว ทปอ.จะนำเสนอรัฐบาลจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการและป้องกันอุบัติภัย (Disaster Management and Prevention Center) มีความทันสมัยในการรวบรวมข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์สังเคราะห์และให้ข่าวสารที่แม่นตรงต่อประชาชนและหน่วยงานที่ต้องการข่างสารดังกล่าว”ศ.ดร.ประสาท กล่าว