อากาศเมืองไทยนับวันยิ่งร้อนขึ้นๆทุกวันนะครับ ใครที่ซักผ้าแล้วจะรู้เลยว่าการตากผ้าตอนบ่ายแล้วผ้าทั้งหมดแห้งภายในครึ่งชั่วโมงมันดีแค่ไหน แต่ที่แย่ก็คือ ออกไปข้างนอกทีแทบสุกเลยล่ะครับ ทุกคนที่ออกไปกลางแจ้งบ่อยๆจะรู้สึกเลยว่า แดดประเทศไทยร้อนกว่าแต่ก่อนเยอะมาก วันนี้เราลองมาดูค่ารังสียูวีของบ้านเรากันเถอะครับ ว่าเป็นอันตรายหรือเปล่า
ข้อมูลจากเว็บไซต์พยากรณ์อากาศของอังกฤษ weatheronline.co.uk ระบุว่าดัชนีความเข้มข้นของรังสีอัลตราไวโอเล็ต (ยูวีอินเด็กซ์) ในประเทศไทยช่วงระหว่างวันที่ 14-21 เมษายน อยู่ที่ 12 โดยดัชนีนี้วัดค่าจากปริมาณของรังสียูวีที่เป็นอันตรายต่อผิวหนังที่คาดว่าจะส่องมายังพื้นผิวโลกในช่วงเวลาที่พระอาทิตย์อยู่บนจุดสูงสุดของท้องฟ้า (ราวเที่ยงวัน)
ข้อมูลจากเว็บไซต์ระบุว่า ความเข้มข้นสูงสุดของรังสียูวีเปลี่ยนแปลงไปได้ในแต่ละปี โดยความรุนแรงสูงสุดอยู่ในจุดครีษมายัน (ซัมเมอร์โซลสทีซ) ที่ดวงอาทิตย์โคจรไปถึงจุดหยุด (โซลสทีซ) คือจุดสูงสุดทางเหนือที่เกิดขึ้นในราววันที่ 21 มิถุนายน และมีความรุนแรงต่ำสุดในช่วงเหมายัน ที่ดวงอาทิตย์โคจรไปถึงจุดหยุดคือ จุดสุดทางใต้ในราววันที่ 22 ธันวาคม โดยค่ายูวีอินเด็กซ์มีตั้งแต่ 0 ในตอนกลางคืนไปจนถึง 11 หรือ 12 และอาจสูงกว่านี้ได้ในเขตร้อน หรือภายใต้ภาวะที่ท้องฟ้าโปร่ง
ทั้งนี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์พยากรณ์อากาศของอังกฤษระบุด้วยว่า ความรุนแรงของรังสียูวีมีความเสี่ยงเป็นอันตรายต่อสภาพผิวหนังแตกต่างกันออกไป โดยแบ่งสภาพผิวเป็น 4 แบบ คือผิวขาว ผิวสีแทน ผิวสีน้ำตาล และผิวดำ โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ระบุว่าคนผิวสีน้ำตาลคือคนเอเชียและคนอเมริกากลางและละตินอเมริกาส่วนใหญ่ จะมีความเสี่ยงปานกลางต่อความเข้มข้นของรังสียูวีที่ระดับ 6-9 และเสี่ยงสูงต่อความเข้มข้นของรังสียูวีที่ระดับ 10 ขึ้นไป ซึ่งผิวหนังสามารถเกิดไหม้ได้หากสัมผัสกับรังสียูวีในแสงแดดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาราว 30 – 60 นาที
คำแนะนำคือ พยายามอย่าให้โดนแสงอาทิตย์โดยตรงโดยให้ใส่เสื้อผ้าปกปิดผิวหนังหรือทาครีมกันแดดที่มีค่าประสิทธิภาพในการป้องกันแสงแดด (เอสพีเอฟ) 15 ขึ้นไป
ทั้งนี้นอกจากประเทศไทยแล้ว ประเทศที่มีค่ารังสียูวีอยู่ในระดับ 12 เช่นเดียวกันในช่วงนี้ยังประกอบไปด้วย ซาอุดีอาระเบีย ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ พม่าและติมอร์เลสเต
หากเพื่อนๆจำเป็นต้องออกแดดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก่อนออกแดดสัก 30 นาทีควรทาครีมกันแดด และพกร่มไว้กับตัวนะครับ จะช่วยให้เพื่อนๆผ่านวิกฤตเอลนินโย่นี้ไปได้ด้วยดีครับ
source: eduzones