สวัสดีค่ะเพื่อนๆ สิ่งที่เราได้ยินมาเมื่อหลายปีที่ผ่านมาคือวิจัยที่ชี้ว่าคนไทยอ่านหนังสือไม่เกิน 8 บรรทัดต่อปี ซึ่งสร้างความหดหู่ให้แก่เราชาวไทยเป็นอย่างมาก แต่วันนี้ เราได้รับข่าวดีแล้วจากงานวิจัยชิ้นใหม่ เพื่อบอกว่าคนไทยอ่านหนังสือได้มากกว่าเดิมเยอะเลยล่ะ ไปดูกันเลย
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 44 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 14 (Bangkok International Book Fair 2016) วันที่ 2 ของการจัดงาน มีผู้มาเลือกซื้อหนังสือกันอย่างคึกคักตั้งแต่ช่วงเช้า ส่วนใหญ่เป็นวัยเรียนเพราะอยู่ในช่วงปิดเทอม
เวลา 13.30 น. สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ จัดงานแถลงรายละเอียด ผลสำรวจการอ่านของประชากรไทย ปี พ.ศ.2558 โดย นางปัทมา อมรสิริสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักสถิติสังคม สำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจเรื่องการอ่านมาแล้ว 6 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2546 โดยการสำรวจการอ่านของประชากรไทย ปี พ.ศ.2558 เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 5.5 หมื่นครัวเรือนทั่วประเทศ เมื่อเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ปีที่ผ่านมา การสำรวจครั้งนี้ นิยามการอ่านว่าหมายถึงหนังสือและบทความทุกประเภท ทั้งในรูปแบบกระดาษและสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไม่นับข้อความโต้ตอบในรูปแบบบทสนทนา ไม่นับรวมการอ่านในเวลาทำงานหรือการอ่านในเวลาเรียน ส่วนการอ่านของเด็กวัยก่อน 6 ปีนั้นนับทั้งกรณีที่เด็กอ่านเองและผู้ใหญ่อ่านให้ฟัง
“เราพบว่า การอ่านของเด็กเล็กอายุไม่เกิน 6 ปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นคือมีเด็กที่อ่านหนังสือ 60.2 เปอร์เซ็นต์หรือ 2.7 ล้านคน โดยในเขตกรุงเทพ เวลาที่ใช้ในการอ่านแต่ละครั้งเฉลี่ยนาน 34 นาทีต่อวัน นานขึ้นกว่าปี 2556 รวม 7 นาทีต่อวัน โดยเด็กกลุ่มนี้นิยมอ่านในรูปแบบหนังสือมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ทว่าอัตราการซื้อหนังสือให้เด็กของผู้ใหญ่ลดลงจากปี 2556 จากร้อยละ 82.6 เหลือร้อยละ 78.5 อาจเป็นผลจากการรณรงค์เมื่อปี 2556 ทั้งนี้ ถ้าดูจากแนวโน้มจากอดีตจะพบว่าผู้ใหญ่ซื้อหนังสือให้เด็กเพิ่มขึ้นทุกปี นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กผู้ชายอ่านหนังสือน้อยกว่า ส่วนสาเหตุที่เด็กไม่อ่าน อันดับหนึ่งคือมองว่าเด็กเล็กเกินไป รองลงมาคือ เด็กอ่านหนังสือไม่ออก เด็กชอบดูโทรทัศน์มากกว่า ตามลำดับ ส่วนเด็กผู้หญิงไม่อ่านหนังสือเพราะเด็กเล็กเกินไป รองลงมาคือ ไม่มีเวลาอ่าน ชอบดูโทรทัศน์มากกว่า ไม่อ่านหรือไม่สนใจ และอ่านไม่ออก ตามลำดับ” นางปัทมากล่าว
นางปัทมา กล่าวอีกว่า ในส่วนของกลุ่มที่อายุ 6 ปีขึ้นไปพบว่ายิ่งการศึกษาสูงยิ่งมีอัตราการอ่านสูง ถ้าดูแนวโน้มจากปี 2554-2558 จะพบว่ามีอัตราการอ่านเพิ่มขึ้น โดยปี 2558 พบว่าคนไทยอ่านหนังสือร้อยละ 77.7 หรือ 48.4 ล้านคน อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมากสุด พื้นที่ภาคอีสานน้อยที่สุด ทั้งนี้หนังสือที่อ่านมากที่สุดคือหนังสือพิมพ์ รองลงมาคือสื่อออนไลน์ บทความทั่วไป วารสาร หนังสือคำสอนทางศาสนา นิตยสาร หนังสืออ่านเล่น การ์ตูน แบบเรียน ตามลำดับ ที่น่าสนใจคือ เวลาในการอ่านเพิ่มจากปี 2556 จาก 37 นาทีต่อวันเป็น 66 นาทีต่อวัน
จากนั้นเวลา 15.00-16.00 น. มีรายการเสวนาในหัวข้อ “ผลสำรวจการอ่านกับแนวโน้มพฤติกรรมการอ่านของคนไทย” โดยนายจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวว่าอยากให้หยุดพูดว่าคนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัดได้แล้ว เพราะเป็นข้อมูลที่สร้างความเข้าใจผิด ทำลายประเทศชาติ ในการสำรวจนี้พบว่าคนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยวันละ 66 นาที มองว่ามากกว่า ในฐานะคนทำหนังสือ อนาคตของหนังสือไทยอยู่ได้แน่นอน ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม
จาก 8 บรรทัด ไป 66 นาทีเชียวนะเนี่ย อิอิ แต่ผลการวิจัยอย่างไรก็ไม่สำคัญหรอกค่ะ อยู่ที่ตัวเราเองมากกว่า เราไม่ต้องสนใจคนอื่นว่าเขาอ่านแค่ไหน แต่เราควรฝึกให้เรามีนิสัยรักการอ่าน เพราะการอ่านสามารถพัฒนาระบบความคิดที่ดีได้ค่ะ
source: sanook