สวัสดีครับเพื่อนๆ วันนี้สาระดีๆที่ scholarship.in.th จะนำมาฝากเพื่อนๆนั่นก็คือเรื่อง การเริ่มต้นเล่นหุ้นนั่นเองครับ ใครที่กำลังสนใจแต่ยังลังเลอยู่ห้ามพลาดเลยนะครับ
คำกล่าวที่ว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครา” แม้เวลาจะเปลี่ยนไปเท่าไหร่ก็ยังใช้ได้เสมอ แม้ในสนามรบทุนนิยมอย่างตลาดหุ้นก็เช่นกัน ถ้าเราเตรียมตัวเองให้พร้อม และมีการศึกษาตลาด ศึกษาตัวหุ้น รวมถึงเข้าใจพฤติกรรมของนักลงทุนในตลาดด้วย โอกาสที่เราจะทำกำไรจากการเล่นหุ้นก็มีมากขึ้นเช่นกันครับ
หุ้น
สรุปภาวะตลาดหุ้นประจำวันจากหน้าเวบ Settrade.com การจะเริ่มเล่นหุ้นนั้นก่อนอื่น เราต้องรู้เรา หรือรู้ตัวเองก่อนครับว่า เราพร้อมแค่ไหน กับการที่จะเข้ามาทำกำไรในตลาดทุนแห่งนี้ (ส่วนรู้เขานั้นเราต้องไปวิเคราะห์กันในสภาพตลาดอีกทีว่าเหมาะสมกับการเล่นของเราหรือไม่ ต้องใช้เครื่องมือหรือการวิเคราะห์แบบไหนเข้าไปตรวจจับ ซึ่งจะเป็นในเชิงลึกแล้ว เราค่อยมาว่ากันทีหลัง ตอนนี้เรามาดูในเบื้องต้นกันก่อน)
สิ่งที่เราต้องรู้ตัวเราเองและต้องเตรียมในขั้นแรกๆ คือ เงินทุนและความรู้ โดยเฉพาะความรู้ถ้าเรามีไม่พอ ก็ไม่ต่างอะไรกับการโยนเงินรายได้ไปให้กับมือเก๋าๆ ในตลาดครับ
เล่นหุ้นต้องใช้เงินทุนเท่าไหร่
ในการลงทุน เงินทุนยิ่งมากก็ย่อมดีกว่าอยู่แล้ว แต่สำหรับมือใหม่แนะนำว่าเริ่มต้นที่ 100,000 บาทก่อนก็ดีครับ เก็บความรู้เก็บประสบการณ์ไปก่อน ถ้าเก่งแล้วค่อยเพิ่มทุน ก็ยังไม่สายเกินไป
ที่จริงแล้วการจะใช้เงินทุนเท่าไหร่นั้น มันก็ขึ้นอยู่กับว่ารูปแบบการลงทุน ของเพื่อนๆ นักลงทุนเป็นแบบไหน และลงทุนในหุ้นตัวไหน มีน้อยก็เริ่มจากลงทุนน้อยๆ ได้ แต่สำคัญที่ว่าเงินที่นำมาลงทุนในหุ้นนี้ ต้องเป็นเงินเย็น เงินที่เรากันไว้จากเงินที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันปกติแล้ว เป็นเงินที่เราไม่ได้จำเป็นต้องดึงกลับมาใช้ในเวลาอันใกล้นี้ เพราะอาจจะเกิดปัญหาที่ว่าเงินยังไม่ได้ออกดอกออกผลตามที่ควรจะเป็น กลับต้องดึงกลับมาใช้จ่ายซะแล้ว จะเสียประโยชน์ในระยะยาวเสียเปล่าๆ
ในการเล่นหุ้นต้องรู้อะไรบ้าง
รู้ว่าสิ่งที่เราจะลงทุนคืออะไร มีลักษณะเฉพาะตัวอย่างไร ซึ่งในที่นี้คือ หุ้น และอย่าลืมว่าราคาของหุ้นจะขึ้นจะลงได้ แท้จริงแล้วจะขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานของธุรกิจนั้นๆ เป็นสำคัญ ไม่ใช่เกิดจากการทำราคาหุ้น ปั่นราคาหุ้น เพราะถึงจะทำราคาอย่างไร สุดท้ายแล้วราคาก็จะกลับมาเคลื่อนไหวตามผลการดำเนินงานของธุรกิจอยู่ดีแหละครับ ควรศึกษาไปให้ลึกถึงขั้นรู้ความเป็นมาของหุ้นแต่ล่ะตัวว่า เขาทำธุรกิจเกี่ยวกับอะไร ใครเป็นผู้บริหาร สัญญาอะไรไว้ทำได้ตามนั้นหรือไม่ มีผลการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นอย่างไร มีเป้าหมายในอนาคตอย่างไร อะไรเป็นจุดอ่อนจุดแข็งของธุรกิจนี้บ้าง เป็นต้น ถึงแม้ในตลาดหลักทรัพย์ในบ้านเราจะมีหุ้นอยู่ 500 กว่าตัว แต่ไม่จำเป็นต้องรู้หมดทุกตัวหรอกครับ เลือกหุ้นที่เราสนใจ และอยู่ในธุรกิจที่เราเข้าใจดี แล้วเข้าซื้อขายให้ถูกจังหวะก็เพียงพอแล้ว
รู้ว่าตัวเราเองเหมาะกับการลงทุนแบบไหน
เล่นสั้น กลาง หรือว่าลงทุนระยะยาว ชอบแบบเน้นตั้งรับกินปันผล หรือว่า ชอบเชิงรุกแบบแนววิเคราะห์ทางเทคนิค ซึ่งการลงทุนแต่ละแบบ วิธีการแต่ล่ะแบบก็จะแตกต่างกัน ดังนั้นเพื่อนๆ ก็ควรจะต้องรู้ตัวเองให้ได้ว่าเหมาะกับแบบไหน และทุกแบบก็มีข้อดีข้อเสียต่างกัน เช่นเล่นสั้นจะเห็นผลได้เร็วกว่า การเล่นระยะยาว แต่ก็ต้องใช้การตัดสินใจที่บ่อยครั้งกว่า และใช้เวลาในการติดตามราคามากกว่าการเล่นระยะยาวเป็นต้น ที่สำคัญต้องรู้ว่า เข้าซื้อวิธีไหนก็ขายออกด้วยวิธีนั้น ไม่ใช่ว่าตอนซื้อมาแบบนักลงทุนระยะสั้น แต่พอหุ้นไม่เป็นไปตามคาดก็ไม่ยอมตัดขาดทุน กลายเป็นนักลงทุนระยะยาวจำเป็นซะงั้น แบบนี้ก็ไม่ไหวเหมือนกันนะครับ
รู้ว่าจะใช้เครื่องมือชนิดใด
1. การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน(Fundamental Analysis)
ต้องติดตามผลการดำเนินงานของบริษัท ดูบัญชีเป็น ดูงบการเงินเป็น ดูแนวโน้มการเติมโตของบริษัทนั้นๆ ได้ และเข้าซื้อเมื่อเห็นว่าราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงมากๆ วิธีนี้ส่วนใหญ่ในบ้านเราจะรู้จักกันในนาม VI การลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investor) นักลงทุนระดับโลกที่ใช้แนวทางนี้ก็ได้แก่ Benjamin Graham, Warren Buffett, Philip Fisher รวมถึง Peter Lynch เป็นต้น ส่วนในไทยเราก็มี อาจารย์ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร, นพ.บำรุง ศรีงาน(หมอสามัญชน แห่ง ThaiVI.org) เป็นต้นครับ
2. การวิเคราะห์ทางเทคนิค(Technical Analysis)
ต้องติดตามความเคลื่อนไหวของราคาของหุ้นนั้นๆ อ่านกราฟเป็น ใช้อินดิเคเตอร์เป็น เข้าใจแนวโน้มของราคา (Trends) เข้าใจรูปแบบของราคา (Patterns) เพื่อประกอบการตัดสินใจในการซื้อขายให้ถูกจังหวะ นักลงทุนระดับโลกที่ใช้แนวทางนี้ก็ได้แก่ George Soros, Jesse L. Livermore, Ed Seykota เป็นต้น ส่วนในไทยเราก็มี คุณลุงโฉลก(chaloke.com) คุณมัดเลย์ (mudleygroup.blogspot.com) คุณเด่นศรี (dsm.pantipmember.com) เป็นต้นครับ
มีทุน มีความรู้พร้อมแล้ว ก็ไปเปิดบัญชีกับโบรกเกอร์ได้เลย หรืออาจจะเปิดไว้ก่อนแล้วค่อยไปหาความรู้ก็ได้ไม่ว่ากันครับ
เปิดบัญชีกับโบรกเกอร์ต้องทำอย่างไร
อย่างแรกเลยคือต้องเตรียมหลักฐานเหล่านี้ให้พร้อม
สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน บัตรข้าราชการ หรือหนังสือเดินทาง
สำเนาทะเบียนบ้าน
สำเนาใบแจ้งรายการบัญชีธนาคารหรือสำเนาสมุดเงินฝากย้อนหลัง 6 เดือน
แบบคำขอให้หักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติ (ATS) (อันนี้หากเราต้องการให้โบรกเกอร์ตัดเงินจากบัญชีได้เลยก็กรอกไปได้เลยครับ แต่ถ้าต้องการโอนเงินเข้าเองไม่ต้องการให้หักอัตโนมัติก็ไม่ต้องกรอกตัวนี้ครับ)
ค่าอากรแสตมป์ 30 บาท
จากนั้นก็เลือกโบรกเกอร์ได้เลย เพื่อนสามารถดูรายชื่อโบรกเกอร์ได้ ที่นี่
หากทุนน้อยและต้องการเทรดบ่อยๆ ก็สามารถเลือก โบรกเกอร์ที่ไม่มีค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ ที่ตอนนี้มี บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) กับ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ครับ
ตามลิ้งค์ด้านบนเพื่อนๆ สามารถกรอกข้อมูลสมัครทางออนไลน์ได้เลยครับแล้วเราก็ปริ้นออกมาเซนต์กำกับ หรือว่าโบรกเกอร์เขาจะส่งเอกสารมาให้กรอกทางไปรษณีอีกที อันนี้แล้วแต่โบรกเกอร์ หรือว่าถ้ามีสำนักงานโบรกเกอร์อยู่ใกล้บ้าน เพื่อนๆ สามารถโทรให้เขามาหาถึงบ้านพร้อมกับเอกสารการสมัครได้เลย โบรกเกอร์ต้องการลูกค้าใหม่ๆ อยู่แล้วเลยแข่งกันบริการเต็มที่ ส่วนระยะเวลาอนุมัติส่วนใหญ่จะประมาณ 7 วัน
ต้องเปิดบัญชีประเภทไหน
มือใหม่ควรเปิดแบบ บัญชีเงินฝาก (Cash Balance Account) ซึ่งเราต้องฝากเงินเข้าไปมีเงินเท่าไหร่ซื้อหุ้นได้เท่านั้น เพิ่งเริ่มอย่าเพิ่งเปิดแบบบัญชีเงินกู้ยืม (Credit Balance Account) ไว้เราบริหารจัดการการเงิน (Money Management) ได้เก่งแล้วค่อยมาว่ากันอีกที
และแนะนำว่าให้เปิดบัญชีแบบเล่นหุ้นออนไลน์จะสะดวกมากๆ ครับ โบรกเกอร์ส่วนใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์บ้านเราจะกำหนดวงเงินที่ต้องใช้เงินในการเปิดบัญชีออนไลน์ขั้นต่ำที่ประมาณ 5,000 ถึง 50,000 บาทครับ แล้วไม่ต้องกลัวว่าเงินของเราจะไปนอนนิ่งเฉยๆ ไม่ยอมทำงาน เพราะโบรกเกอร์เขาก็มีดอกเบี้ยเงินฝากให้ด้วยครับ
อย่าลืมนะครับก่อนเล่นหุ้นด้วยเงินจริง ความรู้เพื่อนๆ ต้องพร้อม เพราะในสนามแห่งนี้ต่อให้เพื่อนๆ มีเครื่องมือดีขนาดใหน สุดท้ายก็ต้องสู้กันด้วยความรู้และประสบการณ์อยู่ดีครับ
source: stocktipsdd