สำหรับเรื่องราวต่อไปเราจะนำเพื่อนชาว ScholarShip.in.th ไปพบกับวิถีชีวิตที่มีระเบียบวินัยของคนญี่ปุ่นกันนะครับ เรื่องราวจะเป็นยังไงเรามาติดตามกันเลยดีกว่า
เพื่อนๆ คงเคยได้ยินกิตติศัพท์ของชาวญี่ปุ่นในความมีวินัยในหลายๆ ด้านนะครับ และการทิ้งขยะก็เป็นอีกเรื่องที่น่าชื่นชมไม่แพ้กันเลยล่ะ
และประเทศญี่ปุ่นนี้ขึ้นชื่อมากครับเรื่องความสะอาด ซึ่งถ้าเพื่อนๆ คนไหนที่ไปพักที่ประเทศญี่ปุ่นใหม่ๆ ล่ะก็มักจะประสบปัญหาความละเอียดลออถี่ถ้วนในเรื่องการคัดแยกขยะ ซึ่งต้องค่อยๆ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ นะครับ เรียกได้ว่าจะต้องทิ้งวันไหนอย่างไรกันเลยทีเดียว
สำหรับขยะก็จำแนกได้เป็น 6 ประเภทใหญ่ๆ เลยครับ
1. ขยะเผาได้ (Burnable garbage/ Combustible)
ขยะเผาได้ คือ ขยะจำพวกเศษอาหาร และขยะเล็กๆ น้อยๆ ในบ้าน ในชีวิตประจำวัน ขยะประเภทนี้นอกจากจะมีธรรมชาติเป็นวัสดุที่เผาไฟได้แล้ว ยังต้องมีขนาดไม่ใหญ่เกินไป คือ ต้องบรรจุลงได้ในถุงพลาสติกเนื้อหนา ขนาด 2 – 3 ลิตร ซึ่งเป็นถุงขยะมาตรฐานที่รัฐหรือเทศบาลญี่ปุ่นกำหนดใช้ทั่วประเทศ
แต่ถ้าเป็นขยะที่เผาได้แต่ขนาดใหญ่เกินจะบรรจุลงถุงมาตรฐานนี้ ก็จะถือเป็นขยะขนาดใหญ่ ต้องแยกออกไปต่างหาก หรือซื้อถุงขยะขนาดใหญ่ ประเภทถุงดำเนื้อหนา มาบรรจุให้เรียบร้อยนะครับ (รู้สึกถึงความยิบย่อยกันขึ้นมาบ้างรึยัง -*-)
2. ขยะเผาไม่ได้ (Unburnable garbage/Incombustible)
ขยะเผาไม่ได้ ก็คือ พวกขวดแก้ว ภาชนะแก้ว กระป๋องเครื่องดื่ม กระป๋องบรรจุอาหารชนิดแข็งบีบไม่ได้ ขวดพลาสติกต่างๆ องใช้ที่ทำจากยาง เครื่องหนัง แผ่นซีดี ฯลฯ
และถ้าเป็นขยะที่มีส่วนประกอบทั้งที่เผาได้และเผาไม่ได้ ก็จะต้องถือเป็นขยะเผาไม่ได้ทันที!! และขยะประเภทนี้ต้องจ่ายเงินซื้อถุงขยะที่มีข้อความระบุหน้าถุงชัดเจนว่า “ขยะเผาไม่ได้” (unburnable garbage) ซึ่งราคานับว่าไม่ถูกเลยล่ะ
3. ขยะขนาดใหญ่
ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องเรือน ที่นอนหมอนมุ้ง ไปจนถึงรถจักรยาน จักรเย็บผ้า เป็นต้น ซึ่งอาจมีทั้งเผาได้และเผาไม่ได้ แต่ต้องแยกขยะเพราะว่ารถเก็บขยะจะไม่สามารถบรรทุกไปได้และเอาไปเผารวมกับขยะธรรมดาจากครัวเรือนไม่ได้นั่นเอง
4. ขยะมีพิษหรือขยะอันตราย
ขยะมีพิษได้แก่ พวกภาชนะบรรจุสารเคมีที่เป็นพิษ ขยะติดเชื้อ (ขยะโรงพยาบาล) กระป๋องที่มีหัวฉีดแบบสเปรย์ ซึ่งอาจระเบิดได้ และขยะที่ถือเป็นวัตถุระเบิด เช่น ดอกไม้ไฟ แก๊สกระป๋อง และของมีคมเช่นมีดแก้ว
5. ขยะที่นำไปหมุนเวียนใช้ในการผลิตใหม่ได้ (recycle)
ขยะจำพวกนี้ได้แก่กระดาษชนิดต่างๆ ตั้งแต่หนังสือพิมพ์ หนังสือเล่ม นิตยสาร ไปจนถึงกล่องกระดาษ ลังกระดาษ กระดาษเคลือบมัน(พวกกล่องนม) ขวดพลาสติกบาง และกระป๋องเครื่องดื่มที่เป็นอะลูมิเนียม (บีบได้) ถือเป็นขยะรีไซเคิล แต่ในการทิ้งขยะประเภทนี้จะต้องแยกย่อยลงไปอีก ไม่ทิ้งรวมกัน และถือว่าเป็นความรับผิดชอบเลยทีเดียว!!
6. ขยะที่ต้องแจ้งหน่วยงานพิเศษของรัฐหรือเทศบาลให้มาเก็บ หรือนำไปส่งที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบ
ดังเช่น คอมพิวเตอร์และวัสดุอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เครื่องดนตรีขนาดใหญ่ รถจักรยานยนต์และมอเตอร์ไซค์ รวมทั้งรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ และซากสัตว์เป็นต้น
สำหรับการจำแนกขยะนั้นจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการบรรจุ ภาชนะที่ใช้บรรจุ วันและเวลาที่สามารถทิ้งได้ จนถึงรายละเอียดยิบย่อยเช่น การผูกป้ายสำหรับทิ้งขยะบางประเภท (ป้ายเหล่านี้ต้องซื้อจากซุปเปอร์มาร์เก็ต มีราคาต่างๆ ตามลักษณะและขนาดของขยะที่จะทิ้ง -*- ยิบย่อยจริงๆ ครับ)
ถ้าหากว่า!!! มีคนทิ้งขยะทำไม่ถูกวิธี หรือจำแนกประเภทไม่ถูกต้อง ทิ้งผิดวันเวลา ทิ้งผิดสถานที่ ฯลฯ ก็อาจเกิดปัญหา เช่น ถูกตักเตือนจากเทศบาลไปจนถึงขั้นถูกปรับ หรืออาจเป็นการลงโทษทางสังคม เช่น เพื่อนบ้านหมั่นไส้เอาถึงขั้นกับฟ้องเทศบาลหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบกันเลยทีเดียว!!!
สำหรับวันเวลาที่รถเก็บขยะจะมารับขยะแต่ละประเภทไปกำจัดนั้น กำหนดไว้แน่นอนชัดเจนและตายตัว ในเอกสารประชาสัมพันธ์ของอำเภอ รวมทั้งแผ่นพับ แผ่นปลิว และปฏิทินตารางวันเวลาในแต่ละปีเลยทีเดียว
สำหรับเอกสารขนาดมหึมานี้ ทางสำนักงานอำเภอนั้นก็จะมอบให้ทุกครัวเรือนในเขตอำเภออย่างทั่วถึง พร้อมทั้งแจกตะกร้าพลาสติกสองใบ สีเขียวและฟ้าสดใส ให้คนที่มาอยู่ใหม่ เหมือนเป็นของขวัญจากเทศบาล แต่เมื่อเก่าหรือขาดชำรุดแล้ว ก็ต้องหาซื้อเอาเองนะครับ ไม่มีแจกฟรีอีกแล้ว T^T
เป็นยังไงล่ะครับเพื่อนๆ เรียกได้ว่าประเทศเค้ามีระเบียบวินัยกันมากจริงๆ ไปจนถึงเรื่องการทิ้งขยะเลยทีเดียว แล้วมาพบกับเรื่องราวดีๆ แบบนี้กันได้ใหม่กับ ScholarShip.in.th นะครับ
Source: Educatepark