เอาล่ะสิ!!? ช่วงนี้ข่าววงการการศึกษาบ้านเราก็รุนแรงซะเหลือเกิน ซึ่งล่าสุดทางนักเสรีนิยมรุ่นกระเตาะ “เนติวิทย์” ก็ได้แสดงความคิดเห็นผ่านเฟสบุ๊ค ในเรื่องเกี่ยวกับการที่ไม่เข้าร่วมพิธีไหว้ครู…
ใจความมีว่า “ครูทำทุกอย่างเพื่อเลื่อนขั้น ทั้งยังยึดติดกับอำนาจ เหนืออื่นใดคือ หากจะให้คารวะไม่ควรบังคับกัน!!!” ซึ่งทางนายเนติวิทย์ โชติไพศาล เป็นนักเรียนของทางโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการครับผม
ความคิดเห็นต่อพิธีกรรมไหว้ครู รวมถึงเหตุผลที่ข้าพเจ้าไม่เข้าร่วมพิธีกรรมไหว้ครู
1. การไหว้ครูแต่เดิมนั้น เราถือว่าท่านเป็นผู้ประสิทธิประสาทวิชาความรู้ด้วยความทุ่มเทอุตสาหะ และบางท่านก็ให้อย่างเปล่าคือวิทยาทาน
ครูตอนนี้อุทิศทุ่มเทตัวให้กับลูกศิษย์มากแค่ไหน ปัจจุบันครูต้องทำผลงานเพื่อเลื่อนขั้นวิทยฐานะ โครงการสร้างภาพต่างๆ (เช่นโรงเรียนพระราชทาน โรงเรียนพอเพียง) เพื่อให้โรงเรียนได้รับงบประมาณ มากกว่าการสอนนักเรียนเสียอีก อาจกล่าวได้ว่าครูทุกวันนี้ไม่ได้อุทิศทุ่มเทตัวให้กับลูกศิษย์มากเท่าที่ทุ่มเทให้ ชื่อเสียงเกียรติยศ ภาพลักษณ์โรงเรียน หรือ ตำแหน่งทางวิชาการ ทุกวันนี้ครูสอนนักเรียนแบบ ใครเรียนได้ก็เรียน ใครไม่สามารถเรียนก็ปล่อยให้ผ่านๆไป หากให้นักเรียนสอบตกจะมีผลกับการประเมินครู ซึ่งมีผลต่ออนาคตของครูคนนั้น
ครูตอนนี้ต่างอะไรจากกวดวิชา ในเมื่อครูก็ทำแค่กวดวิชา ส่วนลูกศิษย์ก็เข้าไปเรียนเพราะเพื่อสอบ แม้กระทั่งการสอบ O-NET ยังต้องติว แล้วอะไรคือสิ่งที่นักเรียนจะได้รับจากครู แล้วแบบนี้จะต้องมีการไหว้ครูไปทำไม…
2. การที่ครูได้รับการคารวะ ควรจะมาจากการที่ลูกศิษย์เห็นว่าครูคนนี้สอนดี ทุ่มเทใจรักเขาจึงมาคารวะ ไม่ใช่การบังคับให้คารวะ
ส่วนการหมอบคลานนั้นยกเลิกไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว การหมอบคลานนั้นแสดงถึงการแบ่งวรรณะชนชั้นอย่างชัดเจนว่า คนที่หมอบนั้นอยู่ต่ำกว่า ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนในปัจจุบันไม่ได้มีการแบ่งวรรณะชนชั้นอย่างนั้นเลย ครูที่เป็นครูที่แท้จริง (ที่จะไม่ได้ยึดติดเรื่องอำนาจ สถานะที่เหนือกว่า)
เค้าไม่ได้สนใจหรอกว่านักเรียนต้องมาหมอบคลานกราบไหว้ตัวเองเพื่อแสดงความเคารพ เพียงแต่นักเรียนเจอหน้ายกมือไหว้ นักเรียนตั้งใจเรียนในห้อง ไม่พูดคุยกันเสียงดัง ส่งงานให้ครบ ตรงต่อเวลา แค่นี้ก็เป็นการเคารพครูอย่างยิ่งยวดแล้ว ประเพณีกราบไหว้หมอบคลานมีเอาไว้เพื่อสร้างภาพ เพื่อแสดงอำนาจ มากกว่าการให้ความเคารพจริงๆเสียอีก ถามตัวเราเองเถิดว่า เวลาเราไหว้พ่อแม่ เราต้องหมอบคลานแบบไหว้ครูหรือไม่ ถ้าไม่แล้วทำไมถึงต้องหมอบคลานตอนไหว้ครูด้วย
3. ครูเองก็อยู่ในฐานะมนุษย์ และก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ใช่ไหมที่จะมีการผิดพลาด (ครูได้เคยคิดหรือไม่ การที่ครูชอบอ้างบ่อยๆว่าตนสอนนักเรียนคนนั้นคนนี้จนได้ดี ก็ยังมีอีกหลายคนที่เกลียดโรงเรียน และไม่ชอบวิชาความรู้ไปตลอดทั้งชีวิตเพราะมาจากครูเช่นกัน) การมาสร้างครูให้เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ด้วยพิธีกรรมต่างๆ นั้นยังสมควรต่อไปหรือไม่ ทำไมไม่ให้วันครู เป็นวันที่ครูจะสัญญาว่า ครูจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ครูก็เป็นมนุษย์เสมอนักเรียนที่ต้องเรียนรู้ไปพร้อมกัน เติบโตไปพร้อมกัน ฟังเสียงคำวิพากษ์วิจารณ์แล้วปรับปรุง
วันไหว้ครูปีนี้ ผมไม่มาโรงเรียน ที่ไม่มาไม่ใช่ไม่รักครู แต่ผมมีเหตุผล
การที่ผมรักใครคนหนึ่ง ไม่ต้องไปหมอบคลาน เราหยอกล้อพูดคุยกันสนุกๆกันได้ตรงไปตรงมา
ครูกับนักเรียนเป็นเสมือนมนุษย์ที่มีผิดมีถูกเรียนรู้ไปด้วยกัน แต่พิธีกรรมดังกล่าวทำลายความสัมพันธ์ของคนสองคนให้ยกอีกคนสูงกว่าอีกคน
(ทั้งยังบังคับด้วย) ผมไม่เคยเห็นพิธีกรรมไหว้ครูที่ครูขอโทษนักเรียนว่าตนได้ทำผิดพลาดอะไรไปบ้าง
และขอให้นักเรียนให้อภัย หรือเป็นการเปิดใจครูต่อนักเรียน ไม่มีที่พิธีกรรมดังกล่าวจะสร้างความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน
เราต้องการรักแบบกลัวๆ รักแบบสยบยอมหรือ ถ้าเป็นอย่างนั้นผมไม่ทำ ผมรักครูได้โดยที่ผมเท่ากับครู เรียนรู้แบบคนเสมอกันคุรุชนบางคนอ่านบทความนี้แล้วอาจหาว่าผมไม่รักครูก็ขอให้รู้ว่า “ความรักเราไม่ต้องเรียกร้องให้ใครมากราบไหว้ เรารักโดยที่เรารักมิใช่หรือ”
แล้วถ้าอ้างประเพณีก็ขอให้รู้ว่า “ประเพณีตั้งอยู่บนความสัมพันธ์อันไม่เท่าเทียม และในเมื่อมนุษย์เป็นคนสร้างประเพณี ใยจะดัดแปลงและเปลี่ยนมันไม่ได้”
ภาพจากเฟสบุ๊คส่วนตัวของเนติวิทย์
สำหรับเหตุการณ์นี้เพื่อนๆ คิดเห้นกันอย่างไรบ้าง สามารถแชร์ความิดเห็นได้ในคอมเม้นต์เลยนะจ๊ะ
Source: Postjung