สวัสดีค่ะเพื่อนๆ ใครที่กำลังทำงานหรือเรียนก็ดี ต่างก็ต้องมีปัญหากับกลุ่มคนที่ทำงานด้วยทั้งนั้น สิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับคำชื่นชมอย่าง ‘คำวิจารณ์’ มองเผินๆ คำวิจารณ์อาจเป็นเรื่องของผลตอบรับในแง่ลบ แต่จริงๆ แล้วคำวิจารณ์ก็แสดงผลลัพธ์ได้ถึงสองทางเช่นเดียวกัน เพราะคำวิจารณ์ที่เหมาะสม เป็นสิ่งที่จะช่วยดึงศักยภาพของมนุษย์ให้ออกมาได้เลย ส่วนคำวิจารณ์ในรูปแบบที่ไม่ค่อยจะเข้าท่าซะเท่าไหร่ ก็มักให้ผลลัพธ์ที่เลวร้ายลงกว่าเดิม เพราะสองสิ่งนี้นับว่าสำคัญมากในชีวิตการทำงาน โดยเฉพาะกับคนที่ต้องติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น เพราะฉะนั้นเราจะทำอย่างไรให้สองสิ่งนี้ ไม่ทำร้ายเพื่อนร่วมงานของเรา
1. แสดงความจริงใจ
ความสัมพันธ์อันดีนอกสำนักงาน จะไม่มีทางพังลงเพราะเรื่องงานได้แน่ หากถึงคราวที่คุณจะต้องบอกกับเพื่อนร่วมงาน หรือลูกน้อง ถึงปัญหาของงานแบบตรงไปตรงมา คุณอาจจะบอกเขาไปด้วยว่า สิ่งที่คุณพูดออกไปนั้น เป็นเพราะคุณใส่ใจในตัวเขา และความสัมพันธ์ระหว่างคุณ และเขา
2. เลือกช่วงเวลา
คนเราเรียนรู้จากความผิดพลาด เพราะฉะนั้นจะเรียนรู้ได้ต้องทำสิ่งนั้นให้สำเร็จออกมาก่อน ถึงจะรู้ว่ามันผิดพลาดตรงไหน และเมื่อมันผิดพลาด ก็ถึงเวลาของการวิจารณ์ และรับฟังผลตอบรับ โดยรอให้เหตุการณ์ที่ว่านี้ผ่านไปก่อน แล้วค่อยวิจารณ์ เพราะการวิจารณ์ในขณะที่งานกำลังอยู่ในขั้นปฏิบัติอยู่นั้น อาจทำให้แผนงานต้องหยุดชะงัก และยังไม่เห็นผลตอบรับที่แท้จริง และทำให้คนที่ทำงานชิ้นนั้นไม่กล้าที่จะทำอะไรต่อไปได้
3. วิจารณ์เป็นการส่วนตัว
ไม่ว่างานนั้นจะมีระดับความผิดพลาดที่ร้ายแรงมากแค่ไหน ควรค่าแก่การโดนตำหนิ ตักเตือนมากแค่ไหน การกล่าวคำวิจารณ์ก็ควรเกิดขึ้นเป็นการส่วนตัวเสมอ ไม่ควรให้ผู้อื่นได้ยิน และรับรู้ด้วย เพราะไม่เช่นนั้นจะดูเหมือนว่าคุณไม่มีความเป็นมืออาชีพ และพฤติกรรมอื่นๆ ดูได้จาก 5 นิสัย ที่ทำให้คุณดูไร้ความเป็นมืออาชีพ
4. ใช้คำสุภาพ
น้ำเสียงในการพูดสามารถบ่งบอกได้ถึงอารมณ์ และย่อมส่งผลต่อผู้ฟังอย่างแน่นอนอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับการว่ากล่าวตักเตือนใครสักคน ควรจะเป็นคำที่สุภาพ และไม่ผสมด้วยอารมณ์ รวมไปถึงคำพูดที่อาจทำให้เข้าใจผิดได้
5. ไม่อคติ
แน่นอนว่าคนเราไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบตั้งแต่แรก เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะเริ่มว่ากล่าวตักเตือน ให้พูดถึงข้อดี จุดเด่น ของเขาก่อน เพื่อก่อให้เกิดการรับฟัง และไม่เอาเรื่องตำแหน่งเข้ามาเกี่ยวข้อง
6. ปัญหาเป็นเรื่องธรรมดา
ในกรณีที่ต้องวิจารณ์เพื่อนร่วมงาน โดยที่ตัวเราเองก็มีตำแหน่งอยู่ในระดับเดียวกัน ทำให้จะเกิดปัญหาที่ว่า เราไม่มีหน้าที่ และอำนาจมากพอที่จะทำให้เขายอมแก้ไขงานส่วนนั้นได้ ลองใช้วิธีโดยการบอกให้เขารับรู้ว่า ความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดา สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ใช่เขาคนเดียวที่ทำเรื่องผิดพลาด จะช่วยละลายความตึงเครียด และเรื่องของศักดิ์ศรีลงได้
7. วิจารณ์ที่ ‘งาน’ ไม่ใช่ที่ ‘คน’
แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่คุณตำหนิคือ ‘งาน’ ไม่ใช่ตัวบุคคล อย่างเช่นจากตัวอย่าง 2 ประโยคนี้ ‘คุณเป็นคนที่ไม่ดีเอาเสียเลย’ กับ ‘คุณเป็นคนดี แต่สิ่งที่คุณทำมันไม่เข้าท่าเท่าไหร่ ผมว่ามันน่าจะดีมากกว่านี้’ ทั้งสองประโยคมีความแตกต่างอย่างชัดเจน แต่ก็ใกล้เคียงกันอยู่ไม่น้อย หลายคนจึงมักใช้ทั้งสองคำในความหมายเดียวกัน ทำให้สถานการณ์กลายเป็นเลวร้ายลง แทนที่จะเข้าใจกันมากขึ้น
8. หาทางออก เพื่อเป็นทางออก
จุดประสงค์หลักของการว่ากล่าวตักเตือน และวิจารณ์ ก็คือ การหาทางออกให้กับปัญหา แต่ถ้าคุณเองก็ยังไม่มีแนวทางแก้ไขปัญหานั้น ก็ยังไม่ควรที่จะพูดถึงเรื่องนี้
9. ไม่มีใครตั้งใจ ‘ทำผิด’
ร้อยทั้งร้อยของคนทำงาน คงไม่มีใครอยากให้ความผิดพลาดเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ไม่ได้มาจากความตั้งใจของพนักงานคนนั้นอย่างแน่นอน ‘พยายามไม่ใช้คำพูดที่สื่อสารว่า สิ่งผิดพลาดนั้นคือสิ่งที่เขาตั้งใจ หรือรู้อยู่แก่ใจ’ แต่ให้เริ่มต้นด้วย ‘ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และสิ่งที่ผิดพลาดนั้น เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ’
10 . รับผิดชอบร่วมกัน
ไม่เลวเลยล่ะ หากคุณตกลงที่จะร่วมรับผิดชอบบางส่วนของเรื่องผิดพลาดกับเขาด้วย เพื่อแสดงให้เห็นว่าภาระทั้งหมด ไม่ได้อยู่ที่เขาเพียงคนเดียว
นับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ละเลยไม่ได้เลย สำหรับการทำงานให้ดำเนินต่อไปได้ โดยไม่ทำร้ายจิตใจของผู้อื่น เพราะมิเช่นนั้น ปัญหาที่ตามมาอาจจะใหญ่กว่าปัญหาที่กำลังแก้อยู่ก็เป็นได้ หรือลองนึกสลับดูกันดู หากคุณเป็นผู้ถูกต่อว่า คุณเองก็ต้องการ 10 วิธีนี้เช่นกัน ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็ต้องเกิดจากการตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่แล้ว ไม่ใช่มีนิสัยแย่ๆ ในการทำงาน ถ้าแบบนั้นก็สมควรโดนล่ะเนอะ
source: Rabbit