ในการสอบแข่งขันหรือสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือสอบชิงทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ ส่วนมาก จะมีส่วนของการเขียนเรียงความ (Essay) ซึ่งเราเชื่อว่าเพื่อนๆคงจะเจออยู่บ่อยครั้ง โดยการเขียนเรียงความนั้น ถือว่าสำคัญมาก เพราะในบางการสอบเเข่งขันมหาวิทยาลัย ก็วัดผลคะแนนจากการเขียนเรียงความมากกว่าส่วนอื่นก็มี ดังนั้น หากเราจะเขียนเรียงความให้ถูกต้องและผ่านฉลุย เราควรจะมาดูข้อผิดพลาดที่ไม่ควรจะเขียนไปในเรียงความกัน
1. ไม่เขียนเรื่องราวตามความเป็นจริง
เพื่อน ๆ คงทราบกันดีว่าในแต่ละปี มหาวิทยาลัยได้อ่านเรียงความมาเป็นพัน ๆ เรื่อง ดังนั้นใครที่เขียนอะไรที่ไม่เป็นความจริง ถึงจะเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยอยากจะได้ยินแต่กรรมการจะรู้ได้ในทันทีค่ะว่ามันเป็นเรื่องที่แต่งขึ้น ดังนั้นเพื่อน ๆ ควรเขียนแต่ประสบการณ์จริงของตัวเองลงไปน้า
2. เขียนเรื่องจริงแต่เป็นเรื่องที่อยู่ใน resume หรือเอกสารอื่นอยู่แล้ว
เรียงความเป็นสิ่งที่จะทำให้กรรมการรู้จักตัวตนของเรามากยิ่งขึ้น ดังนั้นอย่าเสียเขียนเรียงที่เขาสามารถหาอ่านได้จากเอกสารอื่น ๆ ที่เราแนบไปอยู่แล้วค่ะ เพื่อน ๆ จะต้องอธิบายความสามารถและความมุ่งมั่นของตัวเองให้ชัดเจน เพื่อให้กรรมการมั่นใจได้ว่าถ้าเขารับเราเข้าไปเรียน และเราจะทำได้ดีในที่สุด
3. ใช้เรียงความฉบับเดียวสำหรับทุกมหาวิทยาลัย
อย่าคิดว่าเราสามารถใช้เรียงความหนึ่งฉบับเพื่อสมัครทุกมหาวิทยาลัยได้ เพื่อน ๆ จะต้องเขียนมันใหม่ทุกครั้งไม่ว่าจะสมัครถึง 10 ที่ก็ตามค่ะ เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีจุดเด่นที่ดึงดูดเราต่างกันออกไป การเขียนให้เขารับรู้ว่าเราสนใจจะต้องใช้ความสร้างสรรค์และมันก็ไม่ง่ายเลยค่ะ แต่ผลที่ได้รับรองว่าจะต้องคุ้มค่ากับแรงกายที่เราทุ่มเทลงไปอย่างแน่นอน
4. พยายามใช้ภาษาที่สละสลวยแต่ทำความเข้าใจยาก
หลาย ๆ คนอยากให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิประทับใจในทักษะการเขียนของเราโดยการประดิษฐ์ถ้อยคำที่สละสลวยจนเกินไป ซึ่งบอกเลยนะคะว่ามันทำให้เขาเข้าถึงเราได้ยากค่ะ! เรียงความของเราไม่ใช่วิทยานิพนธ์ ดังนั้นเพื่อน ๆ ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาที่หรูหรา ลองจินตนาการว่าเรากำลังนำเสนอตัวเองให้เพื่อน ๆ ฟังในภาษาที่สุภาพก็เพียงพอแล้ว
5. ทำผิดข้อบังคับต่าง ๆ
เพื่อน ๆ จะต้องอ่านข้อบังคับการเขียนเรียงความที่มหาวิทยาลัยนั้น ๆ กำหนดให้ดีนะคะ ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยก็อาจมีความแตกต่างกันออกไปค่ะ เช่น ถ้าเขากำหนดให้เขียนเพียง 500 คำ เพื่อน ๆ ก็ต้องพยายามเขียน 500 คำนั้นให้มีความสมบูรณ์และตรงประเด็นที่สุด กรรมการหลาย ๆ ท่านได้เริ่มทำการประเมินตั้งแต่จุดนี้เพื่อดูว่าเราจะสามารถทำตามข้อปฏิบัติได้หรือไม่ ซึ่งก็นับเป็นสิ่งสำคัญในการเป็นนักเรียนที่ดี
6. ตอบไม่ครบทุกคำถามตามที่โจทย์สั่ง
ในใบสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยอาจมีโจทย์ให้เราเขียนคำตอบ ซึ่งโจทย์บางข้อก็อาจถามมากกว่าหนึ่งคำถาม เพื่อน ๆ จะต้องแน่ใจว่าคำตอบของเพื่อน ๆ ได้ครอบคลุมทุกคำถาม นี่ถือเป็นการวัดทักษะของนักเรียนที่คณะกรรมการมักจะใช้เพื่อดูว่าเรามีคุณสมบัติของนักเรียนที่ดีที่จะทำตามข้อบังคับหรือเปล่า
7. ลืมตรวจสอบการสะกดคำและไวยกรณ์
หากเพื่อน ๆ มีไอเดียยอดเยี่ยม แต่ดันลืมเช็คการสะกดคำหรือไวยกรณ์ (grammar) ผู้อ่านอาจรู้สึกหงุดหงิดกับรูปแบบประโยคที่ฟังดูแปลก ๆ ได้ค่ะ เราต้องตรวจสอบสิ่งเหล่านี้ให้ละเอียดทุกครั้งก่อน หรืออาจให้คนอื่นช่วยดูซ้ำอีกครั้งก่อนส่งด้วยก็จะดีมากเลย
8. เขียนชมมหาวิทยาลัยจนเกินจริง
แน่นอนว่าทุกคนต่างก็มีมหาวิทยาลัยในฝันของตัวเองกันทั้งนั้น แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องเขียนเรียงความในสิ่งที่เกินความเป็นจริงจนอาจดูเหมือนการประจบประแจง เราแสดงความสนใจได้แต่ต้องมีขอบเขต อย่าทำให้มหาวิทยาลัยดูเหมือนเป็นสิ่งของที่เราอยากได้จนมากเกินไป
9. เขียนเรื่องราวจำเจที่คนอื่น ๆ ก็เขียนกัน
บางเรื่องราวก็ถูกหยิบมาใช้ซ้ำ ๆ จนน่าเบื่อ กรรมการบางท่านอาจอ่านเรื่องภาวะโลกร้อนที่ครั้งนึงเคยเป็นกระแสที่น่าสนใจจนรู้ทุกซอกทุกมุมไปแล้วก็ได้คณะกรรมการมักชอบเรื่องราวของความพยายามของเรา มันเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความสำเร็จ เช่น ถ้าเพื่อน ๆ เขียนการเดินทางไปต่างประเทศโดยใช้เงินพ่อแม่ มันอาจดูธรรมดาเกินไป ไม่ได้ใช้ความสามารถหรือความพยายามใด ๆ เพื่อน ๆ ต้องค้นหาบางสิ่งที่มีแต่เราคนเดียวเท่านั้นที่ทำได้ ลองใช้โอกาสนี้เรียกคะแนนพิเศษโดยการเติมมุกตลกลงไปด้วยนะคะ เรียบเรียงเรื่องราวของเราและตัวละครที่ทำให้ผู้อ่านจดจำขึ้นมาให้ได้
10. เขียนเรียงความในนาทีสุดท้าย
เพื่อน ๆ ควรให้เวลากับการเขียนเรียงความมากที่สุดเพื่อให้ผลงานออกมาดี เรียงความจะต้องสะท้อนความเป็นตัวเราและเหตุผลที่เราอยากเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัย การมีเวลาปรับแต่งเรียงความบ่อย ๆ จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้เรียงความออกมาครบถ้วนสมบูรณ์ การเร่งทำในนาทีสุดท้ายนอกจากจะทำให้เพื่อน ๆ หงุดหงิดกับความกดดันแล้วยังทำให้อาจพลาดหรือลืมใส่บางสิ่งที่น่าสนใจในตัวเราอีกด้วย
หากเพื่อนๆไม่รู้จะเริ่มการเขียนเรียงความยังไง ข้อมูลที่มีอยู่ในความคิด ผสมปนเปกันไปหมด เราเเนะนำให้เพื่อนๆลองเขียนเเผนผัง (Mind Maping) เพื่อเรียงลำดับข้อมูลและจะได้ไม่ตกหล่น ^^
Source: hotcourses