ด้วยความที่ทุกวันนี้โทรศัพท์มือถือมีความชาญฉลาดมากขึ้น เป็นเสมือนคอมพิวเตอร์เคลื่อนที่ขนาดมินิที่มีข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้มากมาย
ดังนั้นแม้สมาร์ทโฟนจะมาพร้อมกับคุณประโยชน์มากมาย แต่ก็มีโทษไม่น้อยเช่นกัน ที่สำคัญยังเสี่ยงต้องการถูกโจรกรรมข้อมูลส่วนตัว ด้วยเหตุนี้เราจึงมีเคล็ดไม่ลับในการจัดการข้อมูลส่วนบุคคล และสร้างความปลอดภัยในขณะใช้โทรศัพท์มือถือมาฝาก
1. สร้างรหัสผ่านให้กับโทรศัพท์มือถือ
เป็นวิธีง่ายๆ ในการสร้างความปลอดภัยให้กับมือถือของเรา ป้องกันไม่ให้ผู้อื่นแอบเข้ามาดูข้อมูลส่วนตัวในโทรศัพท์ หรือแอบติดตั้งแอปพลิเคชันไม่พึงประสงค์ลงไปในเครื่องของเรา ซึ่งปัจจุบันสมาร์ทโฟนมีระบบป้องกันความปลอดภัยที่ค่อนข้างดีเยี่ยมทั้งการสแกนนิ้วมือ ปลดล็อกด้วยใบหน้า เป็นต้น
2. ปิดโลเคชั่น
โทรศัพท์ส่วนใหญ่มี GPS ที่สามารถระบุตำแหน่งทั่วไปหรือตำแหน่งที่แน่ชัดได้ ด้วยความสามารถในการทำงานเช่นนี้จึงทำให้แอปพลิเคชันต่างๆ ทำการรวบรวมและแชร์ข้อมูลตำแหน่งโลเคชั่นของคุณได้
ซึ่งการแชร์ตำแหน่งโลเคชั่นเราสามารถปิดการใช้งานได้ นอกจากช่วยเรื่องความปลอดภัยแล้ว ยังเป็นการเพิ่มอายุการใช้งานของแบตเตอรี่อีกด้วย
3. ปิดบลูทูธเมื่อไม่ใช้งาน
บลูทูธช่วยให้โทรศัพท์สามารถสื่อสารกับอุปกรณ์อื่นๆ ได้เช่นตัวเลือกแฮนด์ฟรีในรถยนต์หรือเครื่องพิมพ์ แต่หากบลูทูธถูกบุคลลอื่นเข้ามาเชื่อมต่อ พวกเขาอาจสามารถใช้งานในทางที่ผิดได้ เช่น เข้าถึงข้อมูลของคุณ หรือขัดขวางการโทรของคุณ ดังนั้นจึงควรปิดบลูทูธเมื่อไม่ใช้งาน หรือใส่รหัสผ่านสร้างความปลอดภัยอีกชั้น
4. ตรวจสอบการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย
การตั้งค่าความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยมีอยู่ในสมาร์โฟนอยู่แล้ว ซึ่งคุณสามารถเข้าไปตรวจสอบโดยผ่านเมนูตั้งค่าในโทรศัพท์ หรือผ่านการตั้งค่าของแอปเฉพาะ ซึ่งการตั้งค่าเหล่านี้จะช่วยให้คุณจำกัดการเข้าถึงข้อมูลโทรศัพท์ในแอปพลิเคชันต่างๆ รวมทั้งการเข้าถึงตำแหน่งรูปภาพ รายชื่อผู้ติดต่อ หรือบันทึกย่อ ฯลฯ
5. แอคเคาน์ออนไลน์ที่ลงชื่อเข้าใช้อัตโนมัติ
หนึ่งในคุณสมบัติที่สะดวกในการมีสมาร์ทโฟนคือการเข้าถึงบัญชีอีเมลหรือโซเชียลมีเดียได้อย่างรวดเร็วด้วยการแตะเพียงนิ้วเดียว ซึ่งมันสะดวกสบายก็จริงแต่นั่นก็หมายความว่าคุณกำลังทำการเชื่อมต่ออยู่ตลอดเวลากับแอคเคาน์ที่มีข้อมูลสำคัญอยู่ในนั้น
6. ตรวจสอบแอปที่คุณดาวน์โหลด
จำเป็นต้องรู้จักแอปพลิเคชันที่อยู่ในโทรศัพท์ของคุณ และหากคุณมีแอปที่ไม่คุ้นเคยให้ถอนการติดตั้งไปเลย ซึ่งบางแอปพลิเคชันสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของเราได้อย่างง่ายดาย
7. สร้างหมายเลขโทรศัพท์เสมือน (Virtual phone) เพื่อให้เบอร์โทรของคุณเป็นส่วนตัว
เพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัวของคุณให้มากขึ้นให้ลองใช้หมายเลขเสมือนเช่น Google Voice หรือหมายเลขที่ถูกทิ้งไปแล้ว หมายเลขโทรศัพท์เสมือนจะช่วยให้คุณสามารถจัดการกับสายเรียกเข้าได้ รวมไปถึงการโทรออก และส่งข้อความจากหมายเลขเสมือน
8. พยายามอย่าเก็บข้อมูลที่สำคัญไว้ในโทรศัพท์
หลายคนชอบบันทึกข้อมูลสำคัญไว้ในโทรศัพท์ เช่น รหัสผ่าน หมายเลขบัญชี หรือข้อมูลส่วนบุคคล แต่ยิ่งคุณมีข้อมูลสำคัญในโทรศัพท์น้อยเท่าใด บุคคลไม่พึงประสงค์ก็เข้าถึงข้อมูลของคุณได้น้อยเท่านั้น
9. ซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัส และซอฟต์แวร์ป้องกันสปายแวร์ในโทรศัพท์
เราใช้สมาร์ทโฟนค้นหาข้อมูลในเว็บไซต์ ร้านค้า หรือติดตั้งแอปพลิเคชั่นต่างๆ ซึ่งการใช้งานนั้นแทบไม่ต่างจากคอมพิวเตอร์เลย ดังนั้นจึงควรมีโปรแกรมแอนตี้ไวรัสไว้ในมือถือของเราด้วย
10. ระมัดระวังเมื่อใช้แอปด้านความปลอดภัย
มี ‘แอปเพื่อความปลอดภัยส่วนบุคคล’ จำนวนมากที่สามารถดาวน์โหลดได้ โดยจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้ด้วยการเชื่อมต่อกับ 191 หรือบุคคลที่เชื่อถือได้ทันที ซึ่งถือเป็นแอปที่ดีไม่น้อย แต่ก่อนอื่นควรทดลองใช้กับเพื่อนก่อนว่าแอปตัวนี้ทำงานได้ดีและแม่นยำจริงหรือไม่ เผื่อจะได้ไม่ผิดพลาดในยามที่มีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น
สมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่ทุกคนสามารถเอื้อมถึงได้ในปัจจุบัน เพราะมีหลายยี่ห้อและหลายช่วงราคาให้เลือก ซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ว่าโทรศัพท์มือถือมีประโยชน์ต่อเราหลายด้านมากจริงๆ แต่อย่างไรก็ตามควรระมัดระวังเรื่องการใช้งาน โดยเฉพาะความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัว
ที่มา: techsafety