คนเราต่างคนก็ย่อมมีความคิดเป็นของตัวเอง แต่จะทำอย่างไรดี ถ้าเราดันไปมีความเห็นไม่ตรงกับคนอื่น ถึงแม้เราจะคิดอย่างรอบคอบแล้วว่าความคิดนั้นจะถูกก็ตาม…
วันนี้เรามีวิธีจัดการกับตนเอง เมื่อไม่เห็นด้วยกับความคิดของคนอื่นมาฝากกัน เพื่อให้ทุกคนลองนำไปใช้เพื่อลดการปะทะด้วยคำพูด ที่จะทำให้เกิดอารมณ์โมโห จนส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ระหว่างคุณและคู่สนทนาที่อาจจะเกิดขึ้นได้
เคล็ดลับในการจัดการกับตัวเองที่เรานำมาฝากในวันนี้ อ้างอิงจาก TED Talk ของ Megan Phelps-Roper นักเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสื่อโซเชียลมีเดีย (social media activist) ที่เติบโตมาในโบสถ์ที่ปลูกฝังว่า คนที่เป็นเกย์ไม่ควรค่าแก่การมีชีวิตอยู่
แต่หลังจากที่เธอได้เปิดโลกทัศน์เรื่องนี้กับผู้คนที่แสดงความคิดเห็นในทวิตเตอร์ ทำให้ความเชื่อฝังหัวเกี่ยวกับเกย์เปลี่ยนไป จากนั้นเธอก็ได้ถอนตัวออกจากโบสถ์พร้อมน้องสาวในปี 2012 และผันตัวมาเป็นนักเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสื่อโซเชียลมีเดียเช่นปัจจุบัน
1. อย่าคิดไปเองล่วงหน้าว่าสิ่งที่คนอื่นพูดนั้นเป็นสิ่งไม่ดี
การทึกทัก และทิฐิก่อนที่จะฟังเหตุผล จะทำให้เราเข้าไม่ถึงเหตุผลของคนอื่น ทำให้เราไม่เข้าใจว่าที่จริงแล้วทำไมคนอื่นถึงมีความคิดเห็นเช่นนั้น ดังนั้นเราจึงควรวางความคิดให้เป็นกลางมากที่สุด เพื่อที่จะได้ทำความเข้าใจความคิดเห็นที่มีได้ลึกซึ้งมากขึ้น
2. ถามคำถาม
ถ้าฟังแล้วไม่เข้าใจความคิดเห็นของคนอื่นอยู่ดีก็ให้ตั้งคำถาม และถามออกไปถึงเหตุผล และจุดที่เราไม่เข้าใจว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้นโดยไม่ใช้อารมณ์ การถาม-ตอบแบบสุภาพจะทำให้เราเข้าใจกันมากกว่าการถกเถียงอย่างรุนแรง
3. พูดคุยด้วยความใจเย็น ไม่ใช้อารมณ์เกรี้ยวกราด
การรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นต้องใช้สติ และต้องใจเย็นในระดับหนึ่ง เพราะบางครั้งการที่เรามีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ถ้าไม่คุยกันด้วยเหตุผลให้รู้เรื่อง หรือใช้ความใจเย็น ก็อาจจะทำให้เกิดการปะทะทางอารมณ์ และเรื่องราวอาจะเลวร้ายมากขึ้น
การแก้สถานการณ์สามารถทำได้ด้วยการตบมุข หรือแนะนำหนังสือที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปลี่ยนจุดสนใจไม่ให้เรา และคู่สนทนาเครียดกันจนเกินไป
4. แสดงความคิดเห็นด้วยเหตุผล
อธิบายเหตุผลของคุณให้คู่สนทนาฟังถึงความคิดเห็นของคุณ และอย่าลืมอ้างอิงเหตุผล และที่มาของความคิดเห็นดังกล่าว
การแสดงความคิดไม่ใช่เป็นการคาดหวังให้คู่สนทนาเปลี่ยนความคิดมาเป็นเหมือนคุณ แต่เพียงให้เขาได้เข้าใจในจุดยืนที่คุณเป็นอยู่
ที่มา: ideas.ted.com