เคยบ้างไหมคะ ที่มีเพื่อนทักว่าพูดไม่รู้เรื่องบ่อยๆ หรือรู้สึกตัวเองเลยว่าพูดกับใครไม่ค่อยรู้เรื่อง บางคนมักคิดว่าตัวเองฉลาดเกินไปจนพูดสิ่งที่คนอื่นตามไม่ทัน จริงๆแล้วแค่คุณลำดับเรื่องเล่าได้ ทุกคนก็สามารถเข้าใจคุณได้ แต่การที่เล่าวกไปวนมา กระโดดไปนั่นนี่ที ไม่ใช่การอธิบายที่ฉลาดเลย วันนี้เรามาหาสาเหตุของการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกันดีกว่าค่ะ
1. ขาดความมั่นใจในตัวเอง
สิ่งหนึ่งที่คนเก่งๆ มักจะโดดเด่นกว่าคนอื่นคือการที่เขามีความมั่นใจเวลาพูดจา ประเภทที่เรามักบอกว่าพูดจาฉะฉาน ดูมั่นใจ และนั่นเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คนอื่นๆ ที่กำลังฟังเขาพูดไปด้วยนั้นรู้สึกคล้อยตามได้ง่าย ซึ่งนั่นต่างจากหลายๆ คนที่พูดแบบตะกุกตะกัก ดูไม่มั่นใจในสิ่งที่พูด ซึ่งสุดท้ายก็ทำให้คนที่ฟังสงสัยหรือรู้สึกไม่มั่นใจตามไปด้วยและพอเป็นแบบนั้นก็คงจะมีแต่ทำลายความเชื่อมั่นลงไปเรื่อยๆ นั่นแหละ ฉะนั้นแล้ว สิ่งสำคัญที่คุณควรจะมีก่อนเริ่มที่จะสื่อสารกับคนอื่นคือความมั่นใจในตัวเองและพร้อมที่จะพูดคุยกับคนอื่นจริงๆ
2. หาเป้าหมายของตัวเองไม่เจอ
ปัญหาที่ทำให้หลายๆ คนสื่อสารแบบวกไปวนมากหรือบางทีก็ดูไม่เข้าใจก็เพราะบางคนไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ประเภทมีเรื่องนั้นก็ไปทางหนึ่ง พอมีเรื่องนี้ก็ไปอีกทาง บ้างก็พูดไปเรื่อยๆ โดยไม่สามารถโฟกัสได้ว่าจะเอาอะไรเป็นสำคัญ ซึ่งนั่นจะต่างจากคนเก่งๆ ที่จะมีภาพในใจไว้ชัดเจนว่าต้องการอะไรจากการสื่อสารแต่ละครั้ง และทำอย่างไรจะให้อีกฝั่งไปอยู่ในจุดนั้นโดยเร็วที่สุด วิธีการที่ดีที่สุดคือคุณต้องมีภาพในหัวก่อนว่าคุณจะต้องการอะไร อะไรคือสิ่งที่คุณคาดหวังจากอีกฝ่าย
3. เรียงลำดับความคิดไม่ถูก
การสื่อสารแต่ละครั้งก็เหมือนกับการเล่าเรื่องบางอย่างให้อีกฝั่งได้รู้เรื่อง ทีนี้กุญแจสำคัญคือคุณสามารถเล่าเรื่องนั้นให้คนอื่นเข้าใจและติดตามได้ง่ายแค่ไหน ทำไมเรื่องราวบางเรื่องเราฟังครั้งเดียวก็รู้ว่าอะไรคืออะไร แต่ในขณะที่บางเรื่องฟังแล้วสับสน กุญแจสำคัญก็คือวิธีการลำดับเรื่องราวที่บางคนลำดับอย่างไม่ถูกต้องจนทำให้คนที่ติดตามงง ทั้งนี้หากคุณลำดับก่อนหลังถูกประเภท 1-2-3-4-5 แล้ว คนฟังก็ง่ายที่จะพอรู้ว่าเรื่องต่อไปคือ 6 แต่ถ้าคุณเรียงแบบ 2-3-1-5-4 คนฟังก็คาดเดาไม่ถูกว่าเรื่องจะนำไปสู่อะไรนั่นแหละ
4. ไม่มีข้อมูลที่หนักแน่นพอ
ปัญหาที่หลายๆ คนมักจะเจอคือการพูดแบบห้วนๆ โดยไม่มีข้อมูลหรือเหตุผลสนับสนุน จนทำให้สารหลายๆ อย่างดูล่องลอย บ้างก็ไม่น่าคล้อยตาม ทั้งที่จริงๆ แล้วถ้าคุณสามารถอธิบายหลักเหตุผลรวมทั้งสิ่งที่สามารถเอามารองรับและสร้างน้ำหนักให้กับสิ่งที่คุณพูดแล้ว มันก็ไม่ใช่เรื่องยากที่คนอื่นจะเชื่อคุณ เราลองมองดูว่าทำไมพนักงานบางคนถึงมีความสามารถที่จะโน้มน้าวคนอื่นได้เก่งเพราะพวกเขาพูดโดยมีเหตุผลรองรับที่หนักแน่นอยู่ตลอด ไม่ใช่การกล่าวอ้างลอยๆ เพียงอย่างเดียว
5. ใช้อารมณ์ในการสื่อสารมากไป
สิ่งที่ตรงข้ามกับเหตุผลก็คือตัวอารมณ์ซึ่งหลายๆ ทีเป็นตัวฉุดให้หลายๆ ครั้งของการพูดคุยเสียเรื่องไป ทั้งนี้เพราะการใช้อารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องจะทำให้อีกฝั่งรับรู้อารมณ์ของคุณได้อย่างรวดเร็ว และเมื่ออารมณ์ของคุณไม่ได้เป็นบวกหรือทำให้อีกฝ่ายรู้สึกร่วมไปกับคุณได้แล้ว มันก็จะกลายเป็นตัวขวางสำคัญไม่ให้คนอื่นเข้าถึงสารที่คุณกำลังสื่อนั่นแหละ ฉะนั้นแล้ว ระหว่างที่คุณกำลังสื่อสารอะไรบางอย่างนั้น พยายามฉุกคิดตัวเองอยู่บ่อยๆ ว่าตัวเองอยู่ในอารมณ์ที่คนอื่นยอมรับได้หรือไม่ การแสดงอารมณ์นั้นมีประโยชน์กับคุณจริงๆ หรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ก็ต้องเพลาหรือปรับโหมดโดยเร็วนั่นแหละ
คำพูดก็เปรียบเสมือนดาบสองคมนะคะ หากใช้ไม่ดี หรือทำให้การสื่อสารผิดพลาดบ่อยๆ สุดท้ายแล้วก็จะส่งผลเสียให้กับตัวเองนะคะ ทางที่ดี ค่อยๆพูด คิดก่อนพูดเยอะๆ ก็จะช่วยได้มากเลยค่ะ
ที่มา: eduzones