กฎการเขียน Curriculum Vitae (CV) สำหรับสมัครในระดับปริญญาโทจะไม่เหมือนกับการสมัครงานทั่วไป ในส่วนประวัติการศึกษาจะต้องแสดงให้คณะกรรมการเห็นว่าคุณมีศักยภาพ ทักษะ และคุณสมบัติที่เหมาะสมกับหลักสูตรมากน้อยเพียงใด
และเคล็ดลับต่อไปนี้จะช่วยให้คุณจัดทำ CV ให้ออกมาสมบูรณ์แบบ เพื่อใช้สมัครเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทในอนาคต
1. เรซูเม่ และ Curriculum Vitae มันต่างกันนะ
ซึ่งทั้งเรซูเม่และ CV ต่างก็เป็นกระดาษที่รวบรวมประวัติสั้นๆ เกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ โดยเรซูเม่นั้นเน้นไปที่ผลงานที่มีความเป็นมืออาชีพมากกว่า ในขณะที่ CV จะเน้นถึงความสำเร็จด้านการศึกษา
ดังนั้น หลักสูตรปริญญาโทส่วนใหญ่จึงมีการขอดู CV ของผู้สมัคร แต่หลักสูตร MBA ในบางมหาวิทยาลัยอาจขอเป็นเรซูเม่แทน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของสถาบันการศึกษา
2. เน้นไปที่ประวัติการศึกษา
กฎทองของการสมัครหลักสูตรปริญญาโทใดๆ ก็ตาม CV จะเน้นที่ความสำเร็จทางการศึกษามากกว่าวิชาชีพ ซึ่งแน่นอนว่าใน CV ควรจะเอ่ยถึงประสบการณ์ทางวิชาชีพบ้าง แต่ควรลงลึกถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการศึกษาให้มาก
นอกเหนือจากระบุโรงเรียนเดิมที่จบมา ประกาศนียบัตรที่เคยได้รับเมื่อสำเร็จการศึกษา ควรพูดถึงหลักสูตรที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุด รวมถึงรางวัลด้านการศึกษาที่ได้รับ ที่สำคัญระวัง CV จะมีแต่น้ำท่วมทุ่งนะ เอาแต่เนื้อๆ ก็พอ
3. งานอาสาสมัคร และการฝึกงานมีความสำคัญมากกว่าที่คิด
การฝึกงาน หรืองานอาสาสมัครแสดงให้คณะกรรมการเห็นว่าคุณมีความสนใจด้านไหนบ้าง เป็นการยืนยันว่าตัวผู้สมัครยินดีที่จะทำงานหนักเพื่อเหตุผลอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการมองหากำไรทางการเงิน
4. ใช้ภาษาที่มีประสิทธิภาพ และมีโครงสร้างที่ชัดเจน
ความยาวที่เหมาะสมของ CV คือ 1 – 2 หน้ากระดาษ และควรเลือกใช้คำพูดที่พิถีพิถันเพื่อเป็นการถ่ายทอดความสำเร็จของคุณให้ได้มากที่สุดในพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัด
ลักษณะโครงสร้าง CV สำหรับสมัครหลักสูตรปริญญาโทมีดังนี้
-ส่วนหัวเป็นชื่อที่อยู่สำหรับติดต่อ
-ระบุสัดส่วนที่ชัดเจนด้วยการเน้นเนื้อหาเฉพาะทาง เช่น ประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้อง ความสนใจทางวิทยาศาสตร์ ทักษะ และเทคนิคในห้องปฏิบัติการ
-คำบรรยาย (โดยปกติจะเป็นสัญลักษณ์แสดงหัวข้อย่อย)
-เรียงลำดับเหตุการณ์ (จากปัจจุบันย้อนไปในอดีต)
ตัวอย่างส่วนของการศึกษาที่ระบุใน CV
-ความสนใจในงานวิจัย
-การศึกษา
-ผลงานตีพิมพ์
-เกียรตินิยม และรางวัลต่างๆ
-ประสบการณ์การสอน
-ประสบการณ์ทำงาน
-ทักษะทางคอมพิวเตอร์
-ทักษะทางภาษา
5. การพิสูจน์อักษร
CV คือนามบัตรทางธุรกิจ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ใส่ลงไปควรนำเสนออย่างระมัดระวัง และมีการขัดเกลาเพื่อให้แน่ใจว่าได้นำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการเข้าศึกษาต่อแล้ว
ที่มา: preparationcoursesportal