ในการสมัครเข้าเรียนปริญญาโท มหาวิทยาลัยไม่เพียงแต่ให้ความสนใจในเรซูเม่ และเกรดเฉลี่ยของผู้สมัครเท่านั้น แต่คณะกรรมการยังต้องการทราบถึงสิ่งที่คนอื่นรู้สึกต่อประสบการณ์ทำงานของคุณ ความเฉลียวฉลาด และบุคลิกภาพ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทางมหาวิทยาลัยมักให้นักศึกษายื่นจดหมายแนะนำสำหรับการสมัครมาด้วย
และผู้ที่จะเขียนจดหมายแนะนำนั้นควรเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา หรืออาจารย์ที่เราเรียนด้วย เจ้านาย หรือใครก็ตามที่มีอำนาจ เป็นคนที่เรารู้จัก และเขาก็รู้จักเราดี รวมถึงผลงานที่เราทำด้วย แต่ห้ามให้พ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อน เป็นคนเขียนจดหมายแนะนำเด็ดขาด
1. พูดถึงความสำเร็จที่หลากหลายในจดหมายแนะนำ
หากมหาวิทยาลัยต้องการจดหมายแนะนำ 2 ฉบับขึ้นไป ถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะจะได้เขียนในด้านที่แตกต่างกัน เช่น อีกหนึ่งฉบับเน้นไปที่ความสามารถในการวิจัย อีกหนึ่งฉบับมุ่งไปที่ประสิทธิภาพในการเรียน
2. ช่วยให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
แม้ว่าบุคคลนั้นจะรู้จักคุณอยู่แล้ว แต่อาจยังรู้จักไม่ดีพอ ยังไม่ทราบข้อมูลที่ลึกลงไป หรือผลการทดสอบทางวิชาการต่างๆ ของคุณ ซึ่งสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ที่ทำการเขียนให้คุณด้วยข้อมูลต่อไปนี้
-CV
-ผลการเรียน และเกรดเฉลี่ย
-งานอาสาสมัคร หรือกิจกรรมนอกหลักสูตร
-วันที่ควรส่งหนังสือแนะนำ
3. ระบุตัวอย่างโครงการที่เคยทำ
ผู้ที่ทำการรับรองให้คุณไม่เพียงแต่ต้องเอ่ยถึงทักษะต่างๆ ที่มีเท่านั้น แต่ควรระบุถึงตัวอย่างการกระทำ หรือวิธีการทำงานของคุณ เช่น ใส่ตัวอย่างโครงการวิจัยที่คุณทำ
4. มีพัฒนาการอย่างไร
แสดงให้เห็นว่าคุณมีพัฒนาการอย่างไรเมื่อเวลาผ่านไป แต่ต้องไม่ใส่ข้อมูลที่ดูเกินจริง ควรคำนึงถึงความเป็นไปได้ ตัวอย่างเช่น ตอนเริ่มเรียนปริญญาตรี คุณเป็นคนขี้อายและไม่ค่อยกระตือรือร้นในการเรียนเท่าไหร่ แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีเสมอในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนตอนนี้คุณกลายเป็นนักโต้วาทีไปแล้ว
5. สำนวนการเขียน
จดหมายแนะนำคือเอกสารที่เป็นทางการ อย่างไรก็ตาม ผู้สมัครไม่ควรปล่อยให้หนังสือแนะนำดูจืดชืด และใช้สำนวนที่จำเจจนเกินไป
สุดท้ายหลังจากขอบคุณผู้ที่เขียนจดหมายแนะนำให้แล้ว อย่าลืมตรวจทานความเรียบร้อย รวมไปถึงคำผิดต่างๆ ด้วย
ที่มา: mastersportal