หลายๆ คนยังคงมีความกังวลใจอยู่เสมอ หากจะต้องได้รับมอบหมายให้นำเสนองานเป็นภาษาอังกฤษ ไม่ว่าจะหน้าชั้นเรียน หรือในห้องประชุม วันนี้เราเลยมีเคล็ดลับเด็ดๆ มาแนะนำมือใหม่ที่มักมีอาการประหม่าในสถานการณ์เช่นนี้มาฝากกัน
บอกเลยว่าทำตามได้ไม่ยาก แถมยังช่วยให้คุณสามารถนำเสนองานได้เป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
1. เกริ่นนำดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
การกล่าวนำเข้าสู่เนื้อหา หากผู้พูดสามารถเริ่มต้นได้น่าสนใจก็จะทำให้ผู้ฟังสนใจ และอยากฟังต่อมากขึ้น ซึ่งการเกริ่นนำเรื่องให้น่าสนใจสามารถทำง่ายๆ ดังนี้
-เริ่มการนำเสนอด้วยเรื่องราวประสบการณ์ส่วนตัว หรือเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้ผู้ฟังมีความรู้สึกร่วม
เช่น “When I was a child…”
-พูดถึงความจริงที่น่าตกใจ หรือสถิติที่น่าเชื่อถือ
เช่น “Did you know the U.S. is the only country that…”
-อธิบายเรื่องราวให้ผู้ฟังคิด และมีจิตนาการตาม
เช่น “Imagine you are sitting on the beach…”
-แสดงภาพ หรือวิดีโอที่น่าสนใจ และเกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่จะนำเสนอเป็นการเกริ่นเรื่องอีกวิธีหนึ่งที่น่าสนใจ
-เริ่มจากการแนะนำตนเอง ให้ผู้ฟังรู้สึกไม่ตึงเครียดจนเกินไป
เช่น “My name is John and I am…” หรือ “I became interested in this topic because…”
2. สนับสนุนเหตุผล และเนื้อหาที่นำเสนอด้วยหลักฐานที่น่าสนใจ รวมทั้งน่าเชื่อถือ
การสนับสนุนเหตุผลของเรื่องที่นำเสนอนั้นสามารถนำงานวิจัย หรือผลทางสถิติมาเป็นหลักฐานในการยกตัวอย่างเพิ่มเติมได้ เพื่อความน่าสนใจ และน่าเชื่อถือของการนำเสนอ
3. ใช้ภาษาที่โน้มน้าวใจผู้ฟัง
การใช้ภาษาที่โน้วน้าวใจผู้ฟัง จะทำให้ผู้ฟังรู้สึกมีส่วนร่วมในการนำเสนอมากขึ้น จากการศึกษาพบว่า 5 คำต่อไปนี้คือคำที่มีส่วนในการโน้มน้าวใจผู้ฟัง ได้แก่ You, Because, Instantly, New และ Free (ในกรณีขายของ)
เช่น “To help lessen the effects of global warming, the planet needs you.”
4. รู้จักใช้วลีเกิ่รนนำ และสรุป เพื่อสร้างความน่าสนใจ และต่อเนื่องของการนำเสนอ
ตัวอย่างวลีที่ใช้เกิร่นนำประโยค หรือการเล่าเรื่องได้แก่
-First…
-Next…
-Then…
-In addition/additionally…
ตัวอย่างวลีที่ใช้พูดเพื่อนำเข้าสู่บทสรุปของการนำเสนอได้แก่
-To conclude/In conclusion…
-To sum everything up…
-Finally…
5. นำเสนอด้วยคำพูดที่ชัดเจน และมั่นใจ ไม่ติดขัด
ในการนำเสนอหลายๆ คนอาจจะมีความตื่นเต้น จึงอยากให้ลองตั้งสติ และนำเสนอด้วยคำพูดที่ชัดเจน และมั่นใจให้ได้มากที่สุด เพราะหากพูดตะกุกตะกัก หรือผิดพลาดบ่อยจะทำให้การนำเสนอครั้งนั้นไม่น่าสนใจ แก้ได้ด้วยการฝึกพูดนำเสนอบ่อยๆ หน้ากระจก และนำจุดแข็งของผู้นำเสนอคนอื่นมาปรับใช้
นอกจากนี้ การอัดเสียง หรือวิดีโอของตนเองมาดูหลังจากนำเสนอเสร็จแล้วก็เป็นวิธีที่จะทำให้เราเห็นข้อบกพร่องของตนเองมากขึ้น และสามารถแก้ไขปรับปรุงเพื่อที่จะได้นำเสนองานได้ดีขึ้นในครั้งต่อไป
6. สบตาผู้ฟังขณะนำเสนอ
ขณะนำเสนองานไม่ควรหลบตาผู้ฟัง และมองพื้น หรือบนเพดาน เพราะจะทำให้เสียบุคลิกภาพ วิธีที่ดีที่สุดคือการสบตาผู้ฟังขณะนำเสนอ เป็นการสื่อว่าเรากำลังตั้งใจพูดให้พวกเขาเหล่านั้นฟังนั่นเอง
ที่มา: fluentu