สำหรับคนส่วนมากการพรีเซนต์งานหน้าชั้นเรียน หรือแม้แต่ในห้องประชุมเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยเพื่อนร่วมงานก็สามารถกลายเป็นฝันร้ายได้อย่างไม่น่าเชื่อ
หลายคนไม่เพียงแต่ตื่นกลัวการพูดในที่สาธารณะเท่านั้น แต่บางคนยังไม่รู้วิธีในการนำเสนองานหน้าห้องให้ออกมาดี หรือทำยังไงให้ผู้ชมประทับใจ
วันนี้เราจึงมีข้อผิดพลาดหลักๆ ที่ควรเลี่ยงในการนำเสนองานมาฝาก
1. ไม่มีส่วนร่วมกับผู้ชม
แม้ว่าคุณจะไม่กลัวการพูดในที่สาธารณะ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะดึงดูดความสนใจจากผู้ชม โดยวิธีง่ายๆ ที่จะมีส่วนร่วมกับผู้ชมคือการใช้อวัจนภาษาอย่างเช่นการสบตา นอกจากนี้ Emily Murphy ยังแนะนำให้ส่งคำถามไปยังผู้ชมในระหว่างการพรีเซนต์ด้วย
2. อ่านคำบรรยายบนหน้าจอ
การอ่านจากสไลด์หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์โดยตรงคือวิธีที่จะทำให้ผู้ร่วมฟังบรรยายเบื่อหน่ายได้อย่างง่ายดาย Jeff Magnuson แนะนำว่าคุณควรจะทราบดีในสิ่งที่ตัวเองกำลังนำเสนอ และพูดออกไปอย่างมั่นใจ
หรือควรมีสำเนาของสไลด์ที่พิมพ์ออกมาแล้วเอามาวางไว้ตรงหน้า หรือเปิดแล็ปท็อปหันหน้าเข้าหาตัวเอง จะได้รู้ว่ารายงานถึงตรงไหนแล้ว
3. PowerPoint ดูเยอะสิ่ง
Murphy เผยว่าสไลด์ PowerPoint ที่มีข้อความมากเกินไป ใส่กราฟฟิกเยอะแยะ เพิ่มแผนภูมิ หรือใส่ภาพมากมายจะกลายเป็นว่าผู้ชมไม่อาจมีสมาธิในสิ่งที่คุณกำลังพูดอยู่
4. ไม่ทำให้เป็นแบบฉบับของตัวเอง
แม้ว่าหัวข้อการนำเสนองานจะเป็นข้อมูลซะส่วนใหญ่ แต่ก็ยังมีวิธีที่จะทำให้ไม่น่าเบื่อ และกุมความสนใจของผู้ชมได้อยู่หมัด เช่น ปรับแต่งงานนำเสนอด้วยการเพิ่มเรื่องราว หรือยกตัวอย่างมาเล่า และอย่ากลัวที่จะใช้อารมณ์ขันในการพรีเซนต์งาน
5. ไม่ฝึกซ้อมมาก่อน
การฝึกฝนทำให้งานออกมาสมบูรณ์แบบได้ Magnuson เผยว่าคนส่วนใหญ่ไม่ฝึกซ้อมบรรยายมาก่อน ซึ่งนี่แหละคือข้อผิดพลาดครั้งใหญ่เลย
6. ลืมยิ้ม
Magnuson กล่าวว่าเหตุการณ์เดียวที่ควรหลีกเลี่ยงการยิ้มในระหว่างพรีเซนต์งาน คือตอนที่คุณกำลังพูดถึงข่าวร้าย หรือเรื่องราวที่ไม่ดี
7. ลืมนึกถึงสิ่งที่คาดไม่ถึง
อาจจะมีสิ่งที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นในระหว่างการนำเสนองาน เช่น โปรเจคเตอร์ไม่ทำงาน ไฟดับ หรือแล็ปท็อปไม่โหลดไฟล์ที่คุณต้องการ Murphy กล่าวว่าประเด็นเหล่านี้ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ก็จริง แต่ยิ่งคุณเตรียมการมาดีเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งสามารถจัดการกับสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้นเท่านั้น
ในทางกลับกันคนที่ดูเครียดหรือตกใจกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นอาจทำให้ความน่าเชื่อถือลดลง และหากสามารถจัดการงานพรีเซ็นต์ให้ลุล่วงภายใต้สถานการณ์ที่ยากลำบากได้ ความน่าเชื่อถือของคุณก็จะเพิ่มสูงขึ้น
เทคนิคดีๆ เหล่านี้ไม่ว่าจะวัยเรียนหรือวัยทำงานก็สามารถนำไปปรับใช้กันได้ เพื่อให้งานพรีเซนต์ออกมาดูดีที่สุด
ที่มา: grammarly