สวัสดีครับเพื่อนๆ วันนี้เรามีสาระดีๆมาฝากเพื่อนๆอีกเช่นเคย เพื่อนๆคนไหนที่กำลังจะจบการศึกษาเคยคิดบ้างไหมครับเวลาที่เราไปสมัครงานแล้วเขาเรียกสัมภาษณ์ เขามองหาอะไรในตัวเรา วันนี้เราหาคำตอบมาให้เพื่อนๆแล้วครับ
จ็อบไทยดอทคอม (JobThai.com) ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ และแคเรียร์วีซ่า เผยผลวิจัย “ช่องว่างทักษะที่สำคัญในโลกการทำงาน” (Career Readiness-Skill Gap Research) เพื่อค้นหาคุณลักษณะที่นิสิต นักศึกษาจบใหม่ยังขาด และเป็นสิ่งที่บริษัทหรือองค์กรต่างๆ ต้องการ
ทั้งนี้ ผลสำรวจสามารถสรุปออกมาเป็น 7 ทักษะที่ทางภาครัฐและสถานศึกษาควรหันมาให้ความสนใจ แนะนำให้กับนิสิต นักศึกษา ดังต่อไปนี้
1. มองทุกอย่างคือการเรียนรู้
มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ และนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ในงานด้วยความทะเยอทะยานที่จะเติบโตและสร้างสรรค์ผลงาน
2. ทำได้ทุกบทบาท
สามารถเป็นได้ทั้งผู้นำ ผู้ตาม ผู้ช่วย ในทุกสถานการณ์ และสามารถเรียนรู้งานอย่างรอบด้านได้รวดเร็ว พร้อมที่จะทำงานที่ท้าทายโดยมองประโยชน์ของทีมและองค์กรมากกว่าประโยชน์ของตนเอง
3. คิดเองได้ ทำเองเป็น
ความเชื่อมั่นเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในทักษะของพนักงาน ต้องสามารถคิดและทำได้เองโดยไม่ต้องรอคำสั่ง และเมื่อพบอุปสรรคก็ต้องสามารถเรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นโดยการค้นคว้าด้วยตัวเองได้
4. แสดงออกถึงความอยากสำเร็จ
มีความมุ่งมั่นและทะเยอทะยานที่จะทำงานให้สำเร็จ และได้ผลลัพธ์ตามที่ตั้งไว้สามารถจูงใจตนเองเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดผลงานที่ดีออกมาได้ และค้นหาปัจจัยแห่งความสำเร็จผ่านการเรียนรู้จากความล้มเหลว
5. ประยุกต์ได้
มีทักษะในการประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้จากการศึกษาเข้าสู่การทำงาน เข้าใจถึงลักษณะงาน สามารถตีโจทย์ความต้องการขององค์กรได้ โดยสามารถเข้าใจได้ว่าปัจจัยหนึ่งจะส่งผลต่ออีกปัจจัยหนึ่งได้อย่างไร นำไปสู่ความสามารถในการแก้ปัญหาจากภาพรวม
6. มืออาชีพ
มีคุณสมบัติของการทำงานแบบมืออาชีพ คือ มีความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดี มีความตรงต่อเวลา รักษามารยาทในการทำงานอยู่เสมอ และมีความอดทนอดกลั้น สามารถแยกแยะเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับงานออกได้ มุ่งเน้นผลลัพธ์ของการทำงาน
7. สื่อสารโดนใจ
มีความสามารถในการสื่อสารที่เป็นระบบ รู้จักการลำดับความสำคัญในการสื่อสารให้ผู้รับสารสามารถเข้าใจได้ในทันที สามารถโน้มน้าวผู้รับสารให้คล้อยตามได้ และมีความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษหรือภาษาที่สาม
ผลสำรวจยังพบอีกว่านิสิตนักศึกษากว่า 86 เปอร์เซ็นต์ยังไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของตนเองและพร้อมที่จะพัฒนาภายใต้การชี้แนะจากผู้มีประสบการณ์ ฉะนั้น ทางภาครัฐและสถานศึกษาไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ควรมีนโยบายในการพัฒนา 7 ทักษะดังกล่าวให้กับนิสิตนักศึกษา โดยอาจสอดแทรกลงในบทเรียน หรือเป็นการแนะแนวนอกเวลาเรียนเพื่อให้เป็นทักษะติดตัวที่นอกเหนือจากวิชาเรียนปกติ และเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันในตลาดแรงงานต่อไป
source: sanook