การศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่เราจะได้เข้าไปเรียนรู้โลกเสมือนจริง ทำงานร่วมกับคนหมู่มาก และอีกหลายสิ่งหลายอย่าง ก่อนเข้าสู่โลกแห่งการทำงานที่จริงจัง
หลายคนมีคณะในฝันมาตั้งแต่แรกเริ่ม ที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า อยากจะเข้าเรียนต่อให้ได้ ซึ่งกว่าจะไปถึงในจุดนั้น จะต้องผ่านด่านทั้งสอบข้อเขียน และสอบสัมภาษณ์
ในส่วนของข้อเขียนนั้น เป็นเรื่องของความพยายามในการอ่านหนังสือ และเทคนิคเดาข้อสอบล้วนๆ แต่ในส่วนของการสัมภาษณ์ มีองค์ประกอบที่มากกว่าความพยายาม
หลายครั้งที่การประหม่า นำมาซึ่งการพูดติดๆ ขัดๆ หรือทำอะไรผิดพลาดไปจนสอบตกอย่างน่าเสียดาย ในวันนี้ เรามีทริคเล็กๆ มาแนะนำการเตรียมตัวเพื่อให้สามารถสอบสัมภาษณ์ได้อย่างฉลุย น่าประทับใจ และเพิ่มโอกาสสอบติดคณะในฝันอีกด้วย
1. อย่าทวนคำถามบ่อยจนเกินไป
สิ่งนี้เป็นพฤติกรรมที่คุณมักทำเมื่อเจอคำถามสุดหินแบบที่สมองยังประมวลผลไม่ทัน การเรียกสติและยืดเวลาในการตอบคำถามที่ดีก็คือทวนคำถามนั่นเอง
แม้ไม่ใช่วิธีที่ผิด แต่หากทำบ่อยเกินไปอาจทำให้คณะกรรมการรู้สึกรำคาญได้ ทางที่ดีควรเก็บไว้ทำเวลาเจอคำถามที่คุณไม่เข้าใจจริงๆ จะดีกว่า
2. อย่าถามถึงวันประกาศผล
เชื่อเถอะว่ามันไม่ได้ทำให้คุณดูเป็นคนกระตือรือร้นขึ้นมาหรอก กลับกันมันยังอาจเป็นคำถามที่ผู้สัมภาษณ์สามารถตัดสินได้ทันทีว่าคุณจะอยู่หรือจะไป
เพราะโดยปกติแล้ววันประกาศผลจะมีระบุอย่างชัดเจนบนหน้าเว็บไซต์ หรือตามบอร์ดแสดงลำดับคิวของผู้สัมภาษณ์อยู่แล้ว ดังนั้นการที่คุณถามออกไปจึงดูเหมือนคุณเป็นไม่ใส่ใจ และขาดความช่างสังเกตอย่างแรงเลยทีเดียว
3. อย่าถามผลลัพธ์ทันที
เอาจริงๆ ถามตอนไหนก็ไม่ดีทั้งนั้น เพราะก็คล้ายๆ กับไปสัมภาษณ์งานแล้วถามเรื่องเงินเดือนนั่นแหละ มันจะทำให้ผู้สัมภาษณ์เห็นถึงความใจร้อนของคุณ จากที่ให้คะแนนผ่านแล้ว อาจกลับเป็นกาชื่อตกได้ทันที
ลองคิดอีกแง่หนึ่ง หากคณะกรรมการสามารถแจ้งผลได้ทันที จะมีวันประกาศผลไว้ทำไมละจริงไหม
4. อย่าถามคำถามส่วนตัวของผู้สัมภาษณ์
แม้บรรยากาศจะดูเป็นกันเองขนาดไหน แต่การตีสนิทจนเกินควรก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ การถ่อมตนและมีมารยาทอยู่เสมอ จะช่วยเพิ่มความประทับใจให้กับคณะกรรมการได้ดีกว่า
ที่สำคัญ การถามคำถามส่วนตัวของผู้สัมภาษณ์เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากคุณจะดูเป็นเด็กปีนเกลียวแล้ว ยังดูไม่มีกาลเทศะอย่างแรง แม้ต่อหน้าผู้สัมภาษณ์อาจยังยิ้มแย้มกับคุณดี แต่ใครจะรู้ว่าในมือเขาอาจคัดชื่อของคุณออกไปแล้วก็ได้
5. อย่าถามเรื่องการแต่งตัว
เพราะนอกจากจะเป็นคำถามที่ไม่ช่วยอะไรแล้ว ยังทำให้คุณดูเป็นคนไม่มีไหวพริบอีกด้วย
เนื่องจากทุกมหาวิทยาลัยต้องมีการลงรูปเครื่องแบบของนักศึกษาที่ถูกระเบียบบนหน้าเว็บไซต์ไว้อยู่แล้ว ทำให้คณะกรรมการคิดว่า หากคุณอยากเข้าศึกษาต่อที่นี้จริงๆ คุณอาจต้องมีความกระตือรือร้นที่จะหาข้อมูลของมหาวิทยาลัยให้มากกว่านี้
มากไปกว่านั้นอาจทำให้เกิดความคิดแง่ลบว่า คุณอาจกำลังวางแผนเปิดเวทีแคทวอล์คในสถานศึกษาอยู่ก็เป็นได้ ยิ่งช่วงนี้มีสื่อมากมายกำลังรณรงค์ให้นักศึกษาแต่งกายให้ถูกระเบียบ อาจทำให้คุณต้องพลาดโอกาสเข้าเรียนต่อไปอย่างน่าเสียดาย
6. อย่าพูดพาดพิงคณะอื่นในแง่ลบ
แม้ว่าคณะที่คุณกำลังเข้าสัมภาษณ์อยู่นี้จะเรียนยากขนาดไหน ต้องใช้คะแนนสอบสูงสักเท่าไหร่ ก็ไม่ควรนำไปเปรียบเทียบกับคณะอื่น เพราะทุกสาขาวิชาต่างก็มีความสำคัญเฉพาะทางที่แตกต่างกันไป ดังนั้นคำพูดทำนองว่า ‘ที่เลือกเรียนเอกภาษาอังกฤษธุรกิจ เพราะดูมีเนื้อหาแน่นกว่าเอกภาษาอังกฤษธรรมดา’ จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำอย่างยิ่ง
7. อย่าพูดถึงการสัมภาษณ์กับมหาวิทยาลัยอื่น
เหตุผลก็คือ มันจะทำให้ความมุ่งมั่นของคุณดูลดลงจนดูไม่น่าเชื่อถือ แถมอาจทำให้คณะกรรมการคิดว่า ที่คุณกำลังสัมภาษณ์อยู่นี้อาจเป็นหนึ่งในทางเลือกของคุณก็ได้
ยิ่งไปกว่านั้น หากพวกเขาคิดว่าคุณมีแนวโน้มที่จะสละสิทธิ์ อาจตัดรายชื่อของคุณออก เพื่อป้องกันการเสียสิทธิ์ของผุ้ที่อยากจะเข้าเรียนจริงๆ ก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม แม้คุณจะเผลอพูดสิ่งเหล่านี้ไปแล้วก็อย่าเพิ่งวิตกไป แนะนำให้คุณทำคะแนนกับข้ออื่นโดยการตอบคำถามดี ๆ อย่างมีสติแทน อะไรที่ผ่านไปแล้วให้มันผ่านไป เชื่อเถอะลึกๆ แล้วเหล่าคณะกรรมการผู้ให้สัมภาษณ์ต่างก็รู้กันดีอยู่แล้วว่า ทุกคนต้องประหม่ากับรอบการคัดเลือกนี้เป็นเรื่องธรรมดา หากเรื่องบางเรื่องพวกเขามองออกว่าคุณไม่ได้ตั้งใจหรือจิตตกอยู่อาจปล่อยผ่านไปก็ได้
แต่ทางที่ดีสละเวลาเตรียมพร้อมสักนิด ลองหาตัวอย่างบทสัมภาษณ์มาบันทึกไว้ในสมาร์ทโฟนสักหน่อยก็จะช่วยให้คุณคุ้นเคยกับสถานการณ์กดดันแบบนี้ได้มากขึ้น เพื่ออนาคตแล้ว แค่นี้คงไม่ยากเกินไปจริงไหม มากไปกว่านั้นแนวคิดเหล่านี้คุณสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการสัมภาษณ์งานได้ด้วย เพียงปรับเปลี่ยนเล็กน้อยแล้วเลือกซื้อเครื่องแต่งกายสุภาพๆ มาเสริมบุคลิก แค่นี้ก็ผ่านฉลุยแล้ว
ที่มา: ขนิษฐา สาสะกุล iPrice