ก่อนสัมภาษณ์งานในแต่ละครั้ง หลายคนอาจเกิดความเครียด ไหนจะต้องเตรียมตัวตอบคำถาม ค้นหาข้อมูลองค์กร หรือแม้กระทั่งเตรียมชุดให้เหมาะสมกับการสัมภาษณ์ในแต่ละครั้ง
แต่จะดีกว่าหรือไม่ถ้ารู้ว่าการสัมภาษณ์งานนั้นมีกี่ประเภทกันบ้าง? เพื่อจะได้แสดงเอกลักษณ์ของตัวเองขณะสัมภาษณ์ให้เหมาะสมกับเทคนิคการสัมภาษณ์ให้มากที่สุด! และด้านล่างนี้คือ 8 ประเภทเทคนิคการสัมภาษณ์งานที่บริษัทต่างๆ ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะเลือกใช้ ไปทำความรู้จักกัน!
#1 การสัมภาษณ์เชิงพฤติกรรม (Behavioral Interview)
เป็นวิธีที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายเพื่อพิจารณาผู้สมัครจากประสบการณ์ในอดีตที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งนั้นๆ ว่าผู้สมัครมีความเหมาะสมเพียงใด
เช่น หากบริษัทต้องการบุคคลที่สามารถวิเคราะห์และหาแนวทางการแก้ไขปัญหาได้ ผู้สมัครต้องยกตัวอย่างสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง วิธีดำเนินการเกี่ยวกับการวิเคราะห์หรือแก้ไขปัญหา พร้อมสรุปผลลัพธ์หรือสิ่งที่ได้เรียนรู้จากสถานการณ์นั้น เป็นต้น
#2 การสัมภาษณ์แบบหาข้อมูล (Information Interview)
บางครั้งถูกเรียกว่าการสัมภาษณ์เชิงวิจัย (Research Interview) หรือการสัมภาษณ์เชิงสำรวจ (Explaratory Interview) โดยมีวัตถุประสงค์คือเพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ตรงกัน
เป็นกระบวนการประเมินบุคคลว่าเหมาะสมกับตำแหน่งและความสนใจของบริษัทหรือไม่ เทคนิคการสัมภาษณ์นี้จึงไม่เหมาะสมกับการสัมภาษณ์เพื่อรับเข้าทำงาน
#3 การสัมภาษณ์แบบใช้คณะผู้เชี่ยวชาญ (Panel Interviews)
การสัมภาษณ์นี้ถือเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการพิจารณาว่าผู้สมัครสามารถรับมือกับความเครียดได้ดีเพียงใด ซึ่งมักจะใช้ในองค์กรขนาดใหญ่เพราะประหยัดเวลาสำหรับนายจ้าง และสามารถตัดสินผู้สมัครงานได้จากการสัมภาษณ์งานเพียงครั้งเดียว
#4 การสัมภาษณ์แบบกลุ่ม (Group Interviews)
การสัมภาษณ์แบบกลุ่มมีจุดประสงค์สองประการคือต้องการมอบข้อมูลของบริษัทให้ผู้สมัครได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประหยัดเวลา และเปิดโอกาสให้ผู้สัมภาษณ์ได้คัดกรองผู้สมัครเบื้องต้นจากพฤติกรรม และปฏิสัมพันธ์ของผู้สมัครในการแสดงออกถึงทักษะการสื่อสาร และสร้างความประทับใจ มักพบได้บ่อยในการสัมภาษณ์งานตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน
#5 การสัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์ (Phone Interviews)
ถือเป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญในกระบวนการจ้างงานที่ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถผ่านเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปได้ ซึ่งบริษัทต่างๆใช้การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เพื่อ จำกัดกลุ่มผู้สมัครงานให้แคบลง ก่อนจะตัดช้อยส์และเลือกผู้สมัครที่โดดเด่นเพื่อสัมภาษณ์งานแบบตัวต่อตัว เป็นอีกหนึ่งวิธีที่มีข้อดีหลายประการให้กับองค์กร
#6 การสัมภาษณ์ออนไลน์ผ่านทางสไกป์ (Skype Interviews)
การสัมภาษณ์ออนไลน์ผ่านทาง Skype กลายเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้น เพราะมันช่วยนายหน้าและบริษัทต่างๆ ในการคัดกรองผู้สมัครในระยะเริ่มต้น อีกทั้งยังมีราคาไม่แพงและค่อนข้างง่ายในการดำเนินการ
ทั้งนี้การนำเสนอตัวเองให้ดีที่สุดในระหว่างการสัมภาษณ์ผ่าน Skype อาจเป็นเรื่องยุ่งยากจึงจำเป็นต้องเตรียมตัวให้ดี การค้นหาวิธีสร้างความประทับใจที่เหมาะสมกับตัวเอง และเหมาะสมกับการสัมภาษณ์ผ่าน Skype จึงเป็นเรื่องที่ควรทำ
#7 การสัมภาษณ์ครั้งที่สอง (Second Interviews)
เมื่อผ่านด่านแรกย่อมมีด่านที่สอง และคำถามสัมภาษณ์ครั้งที่สองย่อมแตกต่างจากคำถามที่เจอในการสัมภาษณ์ครั้งแรก โดยการสัมภาษณ์ครั้งที่สองมักจะถามคำถามที่เฉพาะเจาะจงทางเทคนิคมากขึ้น มุ่งเน้นความสามารถและความประสบความสำเร็จที่เคยทำมากขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของโอกาสในการทำงาน
#8 การสัมภาษณ์ออนไลน์ผ่านทางซูม (Zoom Interviews)
Zoom เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการประชุมทางวิดีโอ การแชท การสัมภาษณ์และการแบ่งปันเนื้อหาที่ทำงานบนอุปกรณ์ทุกประเภท โดยเฉพาะที่ในยุคปัจจุบัน การสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัวเป็นไปได้ยากมากขึ้นเพราะ COVID-19 นายจ้างจึงหันมาใช้การสัมภาษณ์งานผ่าน Zoom เพื่อสรรหาและคัดเลือกพนักงาน
และเนื่องจากการสัมภาษณ์งานผ่าน Zoom เป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้สมัครจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ และพร้อมที่จะสร้างความประทับใจให้ถูกต้องและเหมาะสมสำหรับการสัมภาษณ์งานผ่านทางวิดีโอด้วย
ถือเป็นอีกหนึ่งข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ ที่รู้ไว้ก็ไม่เสียหาย และยังช่วยเพิ่มประโยชน์ในการเข้าถึงตำแหน่งที่ชอบ บริษัทที่ใช่ :D ติดตามให้ดีล่ะ ในอนาคตเราจะนำเทคนิคการตอบคำถามเด็ดๆ ของการสัมภาษณ์แต่ละประเภทมาฝากกันอย่างแน่นอน ^^
ที่มา: best-job-interview