นับเป็นสัญญาณที่ดีที่ใครๆ ก็หันมาใช้ภาษาอังกฤษกันมากขึ้น แต่รู้ไหมว่าหลายๆ คำที่วัยรุ่นไทยชอบใช้กันนั้น มันผิดนะ! (แถมทุกคนยังเข้าใจตรงกันอีกต่างหาก) ขืนไปสปีคกับเจ้าของภาษาจริงๆ แล้วคงได้มีงงกันไปหมดแน่นอน
คราวนี้ Scholarship.in.th ก็เลยมีคำศัพท์ 8 คำ ที่เรามักใช้กันผิดๆ มาฝากจ้ะ ไปดูกันเล้ยยย!
1. อินเทรนด์ (In trend)
แทบจะเรียกได้ว่าเป็นคำฮิตติดปากเลยทีเดียว แต่เดี๋ยวก่อนน! คำว่า “ทันสมัย” ที่ถูกต้องควรจะใช้คำว่า Trendy หรือ Fashionable นะจ๊ะ วิธีการใช้ก็ง่ายๆ เพียงแค่วางไว้หลัง Verb to be หรือเอาไว้ข้างหน้า Noun ที่ต้องการจะขยายก็ได้นะ เช่น It is trendy/fashionable หรือ A trendy shirt / Fashionable hairstyles ก็ได้จ้ะ
2. เวอร์ (Over)
ถึงคนไทยจะชอบพูดกันบ่อยๆ ว่า “อย่ามาทำเวอร์ไป” แต่ถ้าจะใช้ “You are over” ในภาษาอังกฤษ บอกได้เลยว่า เจ้าของภาษามีงงกันแน่นอน! ที่ถูกต้อง คือ Exaggerate (อ่านว่า อิก-แซ้ก-เจอ-เรท) นะจ๊ะ เช่น He said he could fly; he was exaggerating! (เขาบอกว่าบินได้ เขาพูดเวอร์(เกินจริง)ไปแล้ว!) หรือ Don’t exaggerate. (อย่าพูดเวอร์ไป) ก็ได้
ส่วนกิริยาที่เกินจริง เรามักจะใช้คำว่า Overact แทน เช่น You’re overacting หรือ Don’t overact
3. หนังซาวด์แทร็ก (Soundtrack Movie)
ในภาษาอังกฤษ Soundtrack จะหมายถึงเพลงหรือดนตรีนะจ๊ะ ดังนั้น Soundtrack Movie จึงใช้ไม่ได้ ถ้าต้องการจะพูดถึงการดูหนังที่เป็นเสียงอังกฤษ ให้ใช้คำว่า English movie/film ดีกว่า ส่วนคำบรรยายใต้ภาพ ให้ใช้คำว่า Subtitles (ห้ามลืม s ต่อท้ายนะ!) เช่น I want to watch an English movie with Thai subtitles
4. เฟรชชี่ (Freshy)
นี่ก็เป็นอีกคำที่ชาวมหา’ลัยใช้กันผิดมาตลอด จริงๆ แล้วคำว่า Freshy ไม่มีในภาษาอังกฤษนะจ๊ะ ที่ถูกต้องเราจะใช้คำว่า Freshman หรือจะใช้ Fresher หรือแม้แต่ First-year student ก็ยังได้ ส่วนปี 2 เราจะเรียกว่า Sophomore ปี 3 เป็น Junior และ ปี 4 เป็น Senior จ้า
5. เร็คคอร์ด (Record)
คำนี้แอบเป็นศัพท์ชวนงงนิดนึง เนื่องจากว่าเป็นได้ทั้งคำกริยา(จัดเก็บ/บันทึก) และคำนาม(บันทึก/สถิติ) เพียงแค่เปลี่ยน Stress (เสียงหนัก) จากพยางค์หน้าไปเป็นหลัง ความหมายก็เปลี่ยนไปแล้ว!
ถ้าหากว่า Stress พยางค์ หน้าจะเป็นคำนาม อ่านว่า “เร็ค – เคิร์ด” เช่น He broke the world record! (เขาทำลายสถิติโลก) ส่วนถ้า Stress พยางค์หลังจะเป็นกริยา อ่านว่า “รี – คอร์ด” เช่น I will record this TV program. (ฉันจะอัดรายการทีวีนี้เก็บไว้) ดังนั้น เครื่องบันทึกเสียง Recorder จึงอ่านว่า รี-คอร์-เดอร์ นั่นเอง
6. American Share
ถึงจะพูดคำนี้กับชาวอเมริกันก็อย่าหวังว่าเขาจะเข้าใจนะ! เพราะคำว่าต่างคนต่างจ่ายในภาษาอังกฤษเราใช้คำว่า “Go Dutch” ต่างหาก เช่น Let’s go Dutch หรือถ้าจะบอกว่ามื้อนี้จะเลี้ยงเองก็ให้ใช้คำว่า “(It’s) my treat” จ้ะ
7. แจม (Jam)
คำว่า เข้าร่วม ภาษาอังกฤษมักจะใช้คำว่า Join นะจ๊ะ เช่น I want to join this activity. (ฉันอยากเข้าร่วมกิจกรรมนี้) ไม่ใช่ I want to jam this activity. นะ!
8. แบ๊ค (Back)
เรามักจะได้ยินวันรุ่นพูดประโยคทำนอง “เขามีแบ๊คดี” หรือ “He has a good back” กันบ่อยๆ แต่คำว่า Back ในประโยคข้างต้นจะหมายถึง “หลัง” ที่เป็นอวัยวะนะจ๊ะ ในที่นี้ต้องใช้คำว่า Backup ซึ่งหมายถึงคน / สิ่งของที่ช่วยสนับสนุนหรือช่วยเหลือเกื้อกูลแทนจ้ะ
เครดิต: TeenMthai