การรีดผ้า เย็บผ้า และทำอาหารเป็นทักษะพื้นฐานที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากที่บ้าน แต่ความรู้สึกเหล่านสี้มันจะแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง เมื่องานบ้านกลายมาเป็นหนึ่งในหลักสูตรเสริมที่ทางโรงเรียนจัดขึ้น เพื่อให้นักเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กผู้ชายสร้างค่านิยมในเรื่องความเสมอภาคทางเพศใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางที่โรงเรียน Montecastelo School ในประเทศสเปนนำมาปรับใช้ ภายใต้สโลแกน “ความเท่าเทียมเรียนรู้ได้ด้วยการกระทำ”
การทำงานบ้านโดยไม่คำนึงถึงเพศสภาพ
ในปี 2018 ที่ผ่านมา Montecastelo School โรงเรียนที่ตั้งอยู่ในเมือง Vigo ประกาศว่าจะมีการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรที่เกี่ยวกับคหกรรมเคียงคู่ไปกับหลักสูตรอื่นๆ โดยนักเรียนชายจะได้เรียนเกี่ยวกับการทำงานบ้าน เช่น การรีดผ้า การเย็บผ้า การทำอาหาร และกิจกรรมอื่นๆ เช่น งานช่างไม้ งานก่ออิฐ รวมไปถึงทักษะงานประปา และช่างไฟฟ้า
ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือได้รับความร่วมมือทั้งจากครู และผู้ปกครอง เพื่อให้คำแนะนำแก่เด็กๆ
Gabriel Bravo ผู้ประสานงานของสถาบันอธิบายให้หนังสือพิมพ์ฟังว่า “กิจกรรมที่เกิดขึ้นดูเหมือนมันจะเป็นประโยชน์มากสำหรับนักเรียนของเราในการเรียนรู้ที่จะปฏิบัติงานเหล่านี้ และเมื่อพวกเขามีครอบครัว พวกเขาก็จะได้มีส่วนร่วมตั้งแต่ตอนเริ่มต้น พร้อมกับตระหนักได้ว่าบ้านเป็นเรื่องของคนสองคน ไม่ใช่ว่างานความสะอาด ล้างจาน และรีดผ้าเป็นงานของผู้หญิงอย่างเดียว ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาได้ตระหนักและเรียนรู้ที่จะจัดการกับตัวเองที่บ้าน”
ใส่ใจกับความเท่าเทียมทางเพศ
แนวคิดนี้เกิดขึ้นเมื่อผู้บริหารโรงเรียนมองหาวิธีการที่พวกเขาจะสามารถส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศสำหรับนักเรียน
โดยโครงการได้มีการพูดคุยกับผู้ปกครองและนักเรียนก่อน ซึ่งก็มีผู้ปกครองที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ ในขณะที่เด็กนักเรียนก็รู้สึกไม่สบายใจเมื่อได้ยินว่าตัวเองต้องรีดผ้าหรือเย็บผ้า
ทำลายความเป็น Stereotypes
อย่างไรก็ตาม เมื่อนักเรียนได้เริ่มหยิบจับและเรียนรู้งานเหล่านี้ พวกเขาจึงตระหนักได้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นกิจกรรมง่ายๆ ที่ทั้งไม่ว่าจะชายหรือหญิงก็สามารถทำได้หากปฏิบัติเป็นขั้นเป็นตอน
บทเรียนชีวิตที่นักเรียนจะไม่มีวันลืม
Bravo กล่าวว่า “สำหรับเด็กบางคนมันเป็นครั้งแรกที่เขาได้จับเตารีดเพื่อรีดผ้า ซึ่งมันทั้งสนุกและได้ความรู้ในขณะเดียวกัน ทางเราก็ค่อนข้างประหลาดใจนะ เช่นเดียวกับผู้ปกครองที่ก็มีความสุขมาก”
แม้ปัจจุบันสิทธิความเสมอภาคระหว่างชายหญิงจะมีความเท่าเทียมกันมากกว่าแต่ก่อน ทว่าเมื่อมองลึกลงไปความเหยียดหยัน การกีดกัน หรือความรู้สึกแบ่งแยกระหว่างเพศก็ยังมีให้เห็นอยู่ประปราย
การริเริ่มหลักสูตรคหกรรมในนักเรียนชายจึงเหมือนเป็นการค่อยๆ ปลูกฝังให้เด็กผู้ชายมองเห็นความเท่าเทียมระหว่างเพศมากขึ้นสำหรับเด็กนักเรียนชายที่สเปน
ที่มา: brightside