“ภาระทางอารมณ์คืออะไร?” นี่คือคำถามที่นักเรียนได้รับในวันแรกของการเรียนร่วมกับคุณครู Karen Loewe ครูสาวผู้มีประสบการณ์นานถึง 22 ปีในการสอนโรงเรียนประถมชั้นปีที่ 7 และ 8
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เธอได้พยายามช่วยนักเรียนให้เอาชนะความเครียดในชีวิตประจำวันด้วยวิธีที่สร้างสรรค์ และเมื่อเรื่องราวนี้แพร่ไปบนเฟซบุ๊ก มีผู้คนกว่า 500,000 คนที่สนับสนุนแนวคิดนี้รวมถึงครูในประเทศอื่นๆ ได้ลองนำวิธีของคุณครู Karen ไปใช้ ทั้งในออสเตรเลีย จีน และปากีสถาน
คุณอาจคิดไม่ออกว่าเด็กประถมเกรด 7 เกรด 8 จะมีความเครียดอะไรได้บ้าง? แต่หากนึกภาพว่าคุณต้องใช้เวลาวันละ 6-7 ชั่วโมงในห้องโดยไม่สามารถลุกเดินไปไหนได้อย่างใจ ต้องไปเข้าห้องน้ำโดยการขออนุญาตและถูกเพื่อนร่วมงานหัวเราะเยาะทุกครั้งที่เจ้านายพูดถึงคุณ ทั้งยังต้องกังวลถึงการทำรายงานที่น่าเบื่อแทบจะทุกสัปดาห์ คงพอจะเดาได้ว่าเด็กๆ รู้สึกแย่แค่ไหน ยังไม่ต้องนับเรื่องการกลั่นแกล้งและอื่นๆ ที่เป็นปัญหาในโรงเรียนอีก
มีการศึกษาจนค้นพบว่านักเรียน 2 ใน 3 คนของสหรัฐอเมริกาเกิดอาการเบื่อหน่ายกับการที่ต้องไปโรงเรียนทุกวัน และเด็กที่อายุมากกว่า 8 ปีขึ้นไปก็มีความรู้สึกที่ไม่ยินดีที่จะต้องไปโรงเรียน
นอกจากนี้หากพวกเขามีปัญหาในครอบครัวด้วย “ภาระทางอารมณ์” ก็จะยิ่งมีเพิ่มขึ้นซึ่งมันอาจนำมาซึ่งผลเสียต่อเด็กเมื่อพวกเขาไม่พร้อมที่จะแบ่งปันมันกับคนอื่นๆ
Karen Loewe พบวิธีในการแก้ปัญหานี้ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2019 เธอตัดสินใจที่จะสอนให้เด็กๆ ของเธอรู้วิธีที่จะแบ่งปันความกังวลใจเหล่านั้น โดยไม่ต้องพะวงกับสิ่งที่คนอื่นจะคิดเกี่ยวกับตัวเอง นั่นทำให้บรรยากาศในห้องเรียนเป็นมิตรมากขึ้น
“ฉันขอให้เด็กๆ เขียนเรื่องที่กังวลใจลงบนกระดาษแผ่นหนึ่งโดยไม่ต้องลงชื่อ จากนั้นเราจะโยนมันข้ามห้องไปด้วยกัน“
หลังจากให้เด็กๆ เขียนข้อความและโยนทิ้งไปแล้ว Karen ให้เด็กแต่ละคนหยิบกระดาษที่ใกล้ตัวขึ้นมาแล้วอ่านให้ทั้งชั้นฟัง โดยให้เจ้าของเรื่องนั้นเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะบอกคนอื่นๆ ไหมว่านั่นคือเรื่องของพวกเขา
สิ่งที่นักเรียนเขียนนั้นทำให้คุณครูประจำชั้นตกใจมาก บางคนกังวลเกี่ยวกับการจากไปของญาติสนิท บางคนพูดถึงเรื่องการหย่าร้างของพ่อแม่ ความเจ็บป่วย โรคมะเร็ง ไปจนถึงการใช้ยาเสพติดและการฆ่าตัวตาย
เด็กหลายคนร้องไห้เมื่ออ่านเรื่องราวของคนอื่นๆ เนื่องจากพวกเขาเองก็มีภาระทางอารมณ์ที่ต้องแบกรับและรู้สึกสงสารคนที่ต้องเผชิญกับเรื่องเดียวกัน มีเรื่องตลกเดียวที่เกิดขึ้นในห้องคือมีเด็กคนหนึ่งเขียนว่าหนูเจอร์บิลของเขาตายเพราะมันอ้วนเกินไป
หลังจากอ่านโน้ตทั้งหมดแล้ว Karen จะบอกกับเด็กๆ ทุกคนว่าพวกเขาไม่ได้อยู่เพียงลำพังและยังเป็นที่รักสำหรับใครบางคนอยู่เสมอ จากนั้นเธอจะเอาโน๊ตใส่ถุงแขวนไว้ที่ประตูเพื่อเตือนใจนักเรียน
Karen เล่าว่าหลังจากที่ทำกิจกรรมนี้ นักเรียนเริ่มปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพมากขึ้น ลดความหยาบคายระหว่างกัน และมีแนวโน้มที่จะแบ่งปันความรู้สึกร่วมกัน ครั้งหนึ่งเธอให้สัมภาษณ์ว่าเด็กๆ ะซื่อสัตย์กับผู้ใหญ่มากขึ้น แต่พวกเขาอาจต้องการเวลาในการเปิดใจ
นี่เป็นวิธีที่ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากและกลายเป็นต้นแบบที่ครูหลายคนได้นำไปปรับใช้เพื่อช่วยให้นักเรียนของตัวเองมีความสุขมากยิ่งขึ้น
ที่มา: brightside