ในปี 2008 Jeremy Windsor นักปีนเขาผู้ก้าวไปเยือนยอดเขาเอเวอเรสต์ ได้ถ่ายทอดประสบการณ์แปลกประหลาดเมื่อเขาอยู่ตามลำพังบนระดับความสูง 27,000 ฟุต
และอยู่ๆ ก็มีชายคนหนึ่งนามว่าจิมมี่โผล่ขึ้นมาพร้อมก้าวมายืนเคียงข้าง เอ่ยคำพูดให้กำลังใจ Windsor ก่อนจะหายไปในน้ำแข็งและหิมะอย่างไร้ร่องรอย
ผู้เขียน Psychological Medicine กล่าวว่า Windsor ไม่ใช่นักปีนเขาเพียงคนเดียวที่เห็นหรือได้ยินสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในระหว่างการสำรวจยอดเขา ซึ่งอาการประสาทหลอนเช่นนี้หรือบางครั้งเรียกว่า “third-man factor”
เป็นปรากฏการณ์ที่รู้จักกันดีเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมระดับความสูงของเทือกเขาแอลป์ ซึ่งจนกระทั่งตอนนี้อาการผิดปกติที่กล่าวถึงนี้ก็ยังเป็นที่เรื่องที่ต้องพิจารณากันอย่างถี่ถ้วน
Katharina Hufner อาจารย์จากมหาวิทยาลัยด้านการแพทย์ที่อินส์บรุค ประเทศออสเตรีย พร้อมด้วย Herman Brugger หัวหน้าของสถาบัน Mountain Emergency Medicine ที่ Eurac Research ประเทศอิตาลี ยังต้องการหลักฐานที่เพียงพอเพื่อที่จะจัดประเภทของอาการทางจิตที่เกิดขึ้นจากระดับสูงที่กล่าวมานั้นได้
นอกจากนี้พวกเขายังได้รวบรวมอาการทางจิต 80 ประเภทที่อธิบายไว้ในงานวิจัยภูเขาเยอรมัน และวิเคราะห์อาการที่อธิบายไว้ในแต่ละข้ออย่างเป็นระบบ
นักวิจัยคิดว่าเป็นเรื่องยากที่จะแยกแยะภาพหลอนที่เกิดขึ้นพร้อมกับอาการทางกายภาพที่มีอยู่ อย่างเช่น อาการปวดหัว คลื่นไส้ เวียนศีรษะ หรืออาการสมองบวม แต่เมื่อพวกเขาวิเคราะห์แล้วกลับแสดงให้เห็นว่าการเกิดของอาการทางจิตจะเกิดขึ้นแยกต่างหาก
Brugger กล่าวว่า”เป็นกลุ่มอาการที่สามารถระบุได้ซึ่งเกิดขึ้นที่ระดับความสูง ซึ่งเป็นอิสระจากอาการเจ็บไข้ได้ป่วยอื่นๆ” ซึ่งหมายความว่าภาพหลอนเหล่านี้ไม่สามารถเชื่อมโยงกับสาเหตุที่อธิบายได้ง่ายๆ เช่น อาการสมองบวม ร่างกายสูญเสียน้ำ หรือการติดเชื้อ เหล่านี้เป็นต้น
ซึ่งเมื่อเทียบกับการเมาความสูงจะสามารถเกิดขึ้นได้ที่ 10,000 ฟุตจากระดับน้ำทะเล ส่วนอาการทางจิตที่เกิดจากความสูงดูเหมือนจะเกิดขึ้นที่ 23,000 ฟุตหรือสูงกว่านี้ ซึ่งทั้งสองอาการมีลักษณะความเสี่ยงที่แตกต่างกัน กล่าวคือ
อาการเมาความสูงอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หากมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจหรีออาการสมองบวมเกิดขึ้น แต่อาการผิดปกติทางจิตที่เกิดจากระดับความสูงจะหายไปอย่างรวดเร็วเมื่อนักปีนเขากลับมาสู่ระดับที่ต่ำกว่า แต่อันตรายจะอยู่ที่ภาพหลอนเหล่านั้นจะชักนำให้นักปีนเขาเปลี่ยนเส้นทาง หรือมีร่วมส่วนในพฤติกรรมเสี่ยงๆ ได้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความชัดเจนสำหรับสาเหตุของอาการผิดปกติทางจิตที่เกิดจากระดับความสูง ไม่ว่าจะเป็นอัตราความถี่ที่เกิดขึ้น หรือบางคนมีความอ่อนไหวทางอารมณ์มากว่าคนอื่นๆ นักวิจัยสันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับระดับออกซิเจนในสมองที่ลดลง ความเครียด การปีนเขาตามลำพัง หรืออาจเป็นปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้มารวมกัน
นักวิจัยกล่าวเสริมว่า เนื่องจากยังไม่ทราบแน่ชัดถึงสาเหตุการเกิดจึงไม่สามารถให้คำแนะนำหรือหลีกเลี่ยงได้ แต่สิ่งที่ทำได้คือการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้ ซึ่งจะช่วยให้นักปีนเขาตระหนักถึงอาการผิดปกติทางจิตที่เกิดจากระดับความสูงเพื่อที่จะระมัดระวังและช่วยเหลือตัวเองได้ทันท่วงที
ที่มา time.com