การสอบเข้าเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยถือเป็นหนึ่งในสนามสอบสำคัญที่นักเรียนส่วนใหญ่ต้องเผชิญ และมีความตื่นเต้นกันทุกยุคทุกสมัย นับตั้งแต่การ “Entrance” มาจนถึง “TCAS”
หลายปีที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาและปรับปรุงระบบการคัดเลือกให้มีความทันสมัยและได้ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น วันนี้เราจึงอยากจะชวนทุกคนย้อนรอยกลับไปดูกันว่าที่ผ่านมาแต่ละยุคผ่านการสอบเข้าฯ แบบไหนกันมาบ้าง??
⭐️ ยุค Entrance :
⏰ ปี 2504 – 2542
ระบบแรกเริ่มของการศึกษาไทยที่ ณ เวลานั้นสถาบันต่างๆ ร่วมกันจัดสอบโดยไม่มีหน่วยงานกลางเข้ามาจัดการ มีเพียงสภาการศึกษาแห่งชาติเป็นผู้ประสานงาน เพื่อช่วยให้นักศึกษาไม่ต้องเสียค่าสอบหลายครั้ง
การสอบในยุคนี้จะใช้คะแนน Entrance ในการยื่นสมัครเรียนเพียงอย่างเดียว สามารถเลือกได้ 4 อันดับ ก่อนจะเปลี่ยนเป็น 6 อันดับในภายหลัง เรียกได้ว่าสอบครั้งเดียว เลือกลำดับคณะที่อยากเรียนได้เลย
⏰ ปี 2542 – 2548
ถือเป็นระบบ Entrance รุ่นปรับปรุง จากเดิมเปิดสอบปีละครั้งทำให้เด็กที่สอบไม่ผ่านต้องรอเวลานานถึงหนึ่งปีกว่าจะมีสิทธิ์สอบใหม่ ในช่วงปีนี้จึงได้เปิดให้มีการสอบเข้าแบ่งเป็น 2 รอบ คือช่วงเดือนตุลาคมและมีนาคม
รูปแบบการสอบยังคล้ายเดิมคือเลือกอันดับ (ยุคนี้ให้เลือกได้ 4 อันดับ) แล้วลงสอบได้ 2 ครั้งนำคะแนนที่ดีที่สุดมาใช้ยื่นสมัครได้ รวมถึงได้มีการนำเกรดเฉลี่ยช่วงม.ปลาย (GPAX) มาใช้ยื่นร่วมด้วย จากเดิมที่ใช้แค่คะแนน Entrance เพียงอย่างเดียว
⭐️ ยุค Admission :
⏰ ปี 2549 – 2552
ยุคใหม่ของระบบสอบเข้าที่มีการยกเลิกการสอบ Entrance และมีระบบกลางเข้ามาดูแลแทน เด็กยุคนี้จะได้รู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า “O-NET และ A-NET”
• O-NET นั้นจะเป็นการสอบวิชาพื้นฐาน 8 วิชาซึ่งสามารถสอบได้ครั้งเดียว
• A-NET คือการสอบวิชาเสริม 5 วิชาที่จะมีความยากและความรู้เฉพาะทางที่มากกว่า สามารถสมัครสอบได้มากกว่า 1 ครั้งโดยจะใช้คะแนนที่ดีที่สุดในการยื่น
การยื่นสมัครเรียนในระบบ Admission ยุคนี้จะใช้คะแนน -NET และ A-NET ร่วมกับเกรดเฉลี่ยช่วงม.ปลาย (GPAX) โดยสัดส่วนของเกรดจะเพิ่มขึ้นกว่าในยุคของ Entrance
⏰ ปี 2553 – 2560
หลังจากที่ทดลองใช้ระบบ O-NET / A-NET กันมาสักพักมีหลายสถาบันที่รู้สึกว่าระบบเดิมอาจไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควรจึงเริ่มมีการ “รับตรง” เกิดขึ้น ภายหลังจึงได้มีการยกเลิกการสอบ A-NET และเปลี่ยนมาใช้ “GAT/PAT” แทน
• GAT นั้นคือการสอบความถนัดทั่วไป
• PAT คือความถนัดทางวิชาชีพ
ทั้งสองรูปแบบนี้จะเปิดให้สอบได้ 2 – 3 ครั้งแล้วแต่ข้อกำหนดในปีนั้นๆ โดยจะนำคะแนนมาคิดรวมกับ O-NET ซึ่งแต่ละคณะก็จะมีเกณฑ์ขั้นต่ำที่แตกต่างกันไป
📍 ในปี 2555 กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ กสพท. ได้ร่วมกับสถาบันต่างๆ จัดสอบ 7 วิชาสามัญพร้อมเพิ่มระบบ “เคลียริงเฮาส์” เพื่อแก้ปัญหา “เด็กกั๊กที่เรียน” และเพื่อให้สามารถคัดเด็กที่ตรงกับความต้องการของแต่ละคณะได้จริงๆ
📍 พอปี 2558 มีการพัฒนาระบบสอบโดยลดจำนวนวิชาในการสอบ O-NET ลงจาก 8 วิชาเหลือ 5 วิชา โดยตัดวิชาศิลปะ, พลศึกษา, สุขศึกษา และการงานอาชีพและเทคโนโลยีออก
📍 ท้ายที่สุดในปี 2559 ได้มีการปรับปรุงระบบอีกครั้ง โดยเพิ่มการสอบวิชาสามัญจาก 7 วิชาเป็น 9 วิชา (เพิ่มคณิตและวิทย์สำหรับเด็กสายศิลป์เข้ามา)
⭐️ ยุค Thai University Central Admission System : TCAS
⏰ ปี 2561-2564
TCAS คือระบบสอบเข้ายุคล่าสุดที่ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในยุคนี้การสอบจะแบ่งออกเป็น 5 รอบ สามารถสอบได้แค่รอบละ 1 ครั้งเท่านั้น
• รอบที่ 1 : รอบยื่น Portfolio ให้สถาบันเป็นผู้พิจารณาเองโดยตรง ไม่มีการสอบอื่นๆ เพิ่ม
• รอบที่ 2 : รอบโควต้าและโครงการพิเศษสำหรับเด็กในพื้นที่ของสถาบันนั้นๆ
• รอบที่ 3 : รอบรับตรง สามารถเลือกได้ 4 สาขาโดยไม่มีการจัดลำดับ หากคะแนนผ่านทั้งหมดผู้สมัครค่อยมาเลือกคณะที่จะเข้าเรียนทีหลัง
• รอบที่ 4 : รอบสอบตามระบบ คล้ายการ Admission สามารถเลือกได้ 4 สาขา เรียงตามลำดับ ทั้งนี้จะได้เรียนคณะไหนขึ้นอยู่กับว่าเราสอบได้ลำดับไหนที่เลือก
• รอบที่ 5 : รอบเก็บตก สถาบันต่างๆ จะเปิดสอบโดยตรงสำหรับนักเรียนที่พลาดโอกาสจากรอบก่อนหน้า
⏰ ปี 2565-2567
📍 ในปี 2564 ได้มีการปรับเปลี่ยนรอบการยื่นสมัครจาก 5 รอบเหลือเพียง 4 รอบ คือ
• รอบที่ 1 : รอบ Portfolio
• รอบที่ 2 : รอบโควตา
• รอบที่ 3 : รอบ Admission
• รอบที่ 4 : รอบสอบตรงโดยสถาบัน (รอบเก็บตก)
📍 ในปี 2566 ได้มีการเปลี่ยนชื่อและเนื้อข้อสอบบางวิชาใหม่ เช่น จาก GAT เป็น TGAT และในส่วนของพาร์ทภาษาอังกฤษจะเน้นการสื่อสารมากกว่าอื่นๆ
ในส่วนของ TPAT จะมีการจัดกลุ่มวิชาความถนัดใหม่เพื่อให้ผู้สอบสามารถจัดตารางสอบในคณะที่ต้องการได้ง่ายมากขึ้น
📍 ในปี 2567 เป็นปีแรกที่ได้ทดลองนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในบางวิชาเพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้เข้าสอบ
📍 ปัจจุบัน การสอบ TCAS จะแบ่งออกเป็น 3 ข้อสอบใหญ่ คือ
✏️ ความถนัดทั่วไป : TGAT (Thai General Apititude Test) ซึ่งแบ่งการสอบเป็น 3 ส่วน
• TGAT1 : การสื่อสารภาษาอังกฤษ
• TGAT2 : การคิดอย่างมีเหตุผล
• TGAT3 : สมรรถนะการทำงาน
✏️ วัดความถนัดทางวิชาชีพ : TPAT (Thai Professional Aptitude Test) แบ่งการสอบเป็น 5 ความถนัด
• TPAT1 : ความถนัดแพทย์ (กสพท.)
• TPAT2 : ความถนัดทางศิลปกรรมศาสตร์
• TPAT3 : ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์
• TPAT4 : ความถนัดทางสถาปัตยกรรม
• TPAT5 : ความถนัดทางครุศาสตร์ / ศึกษาศาสตร์
✏️ ข้อสอบวัดความรู้ประยุกต์ : A – Level (Applied Knowledge Level) แบ่งการสอบเป็น 9 วิชา
• A – Level คณิตศาสตร์ประยุกต์ ข้อสอบแบ่งเป็น 2 แบบ (สามารถสอบได้ทั้ง 2 แบบ)
* A – Level Math1 : วิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 (คณิตพื้นฐาน และเพิ่มเติม)
* A – Level Math2 : วิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ 2 (คณิตพื้นฐาน)
• A – Level Sci : วิทยาศาสตร์ประยุกต์
• A – Level Phy : ฟิสิกส์
• A – Level Chem : เคมี
• A – Level Bio : ชีววิทยา
• A – Level Soc : สังคมศึกษา
• A – Level Thai : ภาษาไทย
• A – Level Eng : ภาษาอังกฤษ
• A – Level ภาษาต่างประเทศอื่น ๆ (เลือกสอบได้ 1 ภาษา)
1. A-Level Fre : ภาษาฝรั่งเศส
2. A-Level Ger : ภาษาเยอรมัน
3. A-Level Jap : ภาษาญี่ปุ่น
4. A-Level Kor : ภาษาเกาหลี
5. A-Level Chi : ภาษาจีน
6. A-Level Bal : ภาษาบาลี
7. A-Level Spn : ภาษาสเปน
เรียกได้ว่ากว่าจะมาถึงวันนี้เราผ่านการสอบมาหลายยุค หลายสมัย หลายรูปแบบ ไหน ใครเคยมีประสบการณ์ยุคไหน มาแชร์กันหน่อยเร็ววว