สืบเนื่องมาจากวันที่ 15 กรกฎาคมที่่ผ่านมา เป็นวันที่หลายพื้นที่ในประเทศไทยจัดสอบก.พ. หรือภาคความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก.) ประจำปี 2561 ซึ่งเป็นการสอบวัดความรู้เพื่อเอาใบเบิกทางเปิดประตูเข้าสู่การรับราชการ
อาชีพข้าราชการเป็นหนึ่งในงานยอดนิยมของคนไทยจากรุ่นสู่รุ่น เนื่องจากเป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีตำแหน่ง มีความมั่นคง และสวัสดิการที่ครอบคลุมหลายด้าน แม้ในปัจจุบันความนิยมในการรับราชการจะไม่บูมเท่าอดีต แต่พ่อแม่จากหลายครอบครัวก็ยังหวังให้ลูกหลานเดินในเส้นทางนี้
โดยหน่วยงานของรัฐแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลัก ได้แก่
-ส่วนราชการ
-รัฐวิสาหกิจ
-องค์การมหาชน
-หน่วยงานของรัฐรูปแบบใหม่
แต่วันนี้เราจะพูดกันถึงเรื่องข้าราชการ และ พนักงานรัฐวิสาหกิจ
ข้าราชการ
ถือเป็นอาชีพที่มีความมั่นคงมากกว่าอาชีพอื่นๆ ปฏิบัติงานในหน่วยงานภาครัฐ อย่างกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานท้องถิ่นของภาครัฐ ซึ่งสามารถรับราชการไปจนถึงเกษียณหากไม่ทำผิดวินัย แต่ทั้งนี้ข้าราชการไม่มีโบนัสพิเศษ เนื่องจากหน่วยงานของรัฐไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไรเหมือนรัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรเอกชน
สวัสดิการ
สวัสดิการของข้าราชการเป็นสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดให้หลายคนอยากประกอบอาชีพนี้ อย่างเช่น ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลตั้งแต่เบิกค่ารักษาของตัวเอง ไปจนถึงค่ารักษาพยาบาลของพ่อแม่ คู่สมรส และบุตร ตลอดจนครอบคลุมเรื่องค่าเล่าเรียนบุตร โดยที่บุตรจะได้สิทธิ์นี้ถึง 3 คน
นอกจากนี้ ยังมีสวัสดิการบำเหน็จหรือบำนาญจากการเกษียณราชการ โดยสามารถเลือกได้ว่าจะรับบำเหน็จเป็นเงินก้อน หรือจะเป็นบำนาญที่ได้รับรายเดือนไปจนตลอดชีวิต หากเลือกรับเป็นเงินบำนาญสวัสดิการในการรักษาพยาบาลก็ยังคงอยู่ไปตลอดชีวิตด้วย
พนักงานรัฐวิสาหกิจ
รัฐวิสาหกิจ เป็นองค์การที่รัฐบาลเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ อาจมีโครงสร้างเช่นเดียวกับหน่วยธุรกิจเอกชนหรือมีโครงสร้างอย่างหน่วยงานของราชการ แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาผลกำไร เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การประปานครหลวง สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การกีฬาแห่งประเทศไทย บริษัท อสมท จำกัด สถาบันการบินพลเรือน บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด เป็นต้น
เนื่องจากรัฐวิสาหกิจเป็นองค์กรแสวงผลกำไร พนักงานรัฐวิสาหกิจจึงมีฐานเงินเดือนที่สูงกว่าข้าราชการเมื่อทำงานไปนานๆ และพิจารณาจากตำแหน่งใกล้เคียงกัน
นอกจากนี้ พนักงานรัฐวิสาหกิจยังมีโอกาสได้รับโบนัสจากผลประกอบการขององค์กร อย่างเมื่อปี 2560 ที่่ผ่านมา รัฐวิสาหกิจที่จ่ายโบนัสในอัตราสูง ได้แก่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และบริษัท ปตท. เป็นต้น
สวัสดิการ
สวัสดิการขึ้นอยู่กับองค์กรรัฐวิสาหกิจนั้นๆ ค่ารักษาพยาบาลครอบคลุมทั้งตัวเอง คู่สมรส และบุตร ส่วนพ่อแม่ขึ้นอยู่กับองค์กรรัฐวิสาหกิจนั้นๆ ว่าครอบคลุมหรือไม่
ส่วนบำเหน็จบำนาญ เมื่อทำงานจนเกษียณ รัฐวิสาหกิจจะเป็นเหมือนกับบริษัทเอกชน คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หากทำงานจนถึงเกษียณก็จะได้เงินก้อนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไป
ไม่มีบำเหน็จหรือบำนาญเหมือนข้าราชการ เมื่อเกษียณสวัสดิการต่างๆ ที่เคยได้รับก็ถือว่าหมดสิทธิ์ไป ทั้งเรื่องค่ารักษาพยาบาล และการศึกษาบุตร
ที่มา: moneyhub , www.ombudsman.go.th