ในยุคปัจจุบันนี้การศึกษาทางเลือกมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปมากมาย และ “Homeschooling” หรือการเรียนที่บ้านนั้นก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในทั่วทุกมุมโลก
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ยังไม่แน่ใจ อยากทราบให้แน่ชัดว่า Homeschooling มีหลักสูตรการเรียนแบบไหน พ่อแม่จะต้องมีคุณสมบัติอย่างไรในการจัดการเรียนการสอนให้ลูกด้วยตนเองที่บ้าน แล้วลูกรักของเรามีความพร้อมที่จะเรียนกันเองที่บ้านโดยไม่ต้องไปโรงเรียนหรือเปล่า ขอให้ร่วมติดตามบทความนี้ไปด้วยกันค่ะ
การเรียนการสอนแบบโฮมสคูล (Homeschooling)
แนวทางการเรียนการสอนแบบโฮมสคูล คือ การศึกษาทางเลือก เป็นการบูรณาการที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้จากวิถีชีวิต เรื่องราวและบรรยากาศที่เกิดขึ้นจริง เน้นความสนใจของเด็กเป็นสำคัญ เพื่อให้เด็กได้ค้นพบความถนัดและความสามารถของตนเอง โดยมีพ่อแม่เป็นผู้จัดการเรียนการสอนให้แก่ลูกเองภายในบ้าน และคอยช่วยเหลือ ชี้แนะ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาตามธรรมชาติอย่างเต็มประสิทธิภาพ แถมยังลดความเสี่ยงต่อการ Bullying แก่เด็กไปในตัว
คุณพ่อคุณแม่ที่จัดการศึกษาแบบนี้ให้ลูกมีความเชื่อว่าการเรียนแบบโฮมสคูลจะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้เอง รักในการเรียนรู้ และรู้วิธีที่จะสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ซึ่งในประเทศไทยเราได้มีการรับรองการจัดการศึกษาในรูปแบบนี้ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และยังให้สิทธิ์ในการรับเงินอุดหนุนจากรัฐสำหรับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานอีกด้วย
กิจกรรมแบบโฮมสคูล
เนื่องจากการเรียนแบบโฮมสคูลจะเริ่มต้นที่ความสนใจของตัวเด็กเป็นหลัก ถ้าเด็กสนใจการเลี้ยงสัตว์ อาจจะเริ่มจากการหาสัตว์อย่าง นก ไก่ ปลา มาเลี้ยง ให้เขาเป็นคนให้อาหาร และขยายฐานความรู้โดยพาไปดูตลาดซื้อขายพันธุ์ปลา พาไปจับปลา หรือพูดคุยกับชาวบ้านที่เลี้ยงปลาเป็นอาชีพ หรือถ้าเด็กมีความสนใจในด้านอื่น คุณพ่อคุณแม่จะต้องคอยกระตุ้นให้เขาทดลองทำ ได้ศึกษาข้อมูลด้วยตนเอง หรือคอยหาข้อมูลให้บ้างและให้ลูกนำไปต่อยอดสู่ความรู้เรื่องใหม่ๆ ต่อไป
พ่อแม่แบบโฮมสคูล
ในการเริ่มต้นที่จะจัดการศึกษาแบบโฮมสคูลให้ลูกนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องมีความพร้อมและมีการเตรียมตัวดังต่อไปนี้
– พ่อแม่จะต้องมีความตั้งใจ มีความชัดเจนหนักแน่น และมีความเห็นที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในการที่จะจัดการเรียนแบบโฮมสคูลให้กับลูก และจำเป็นจะต้องศึกษาถึงการศึกษาทางเลือกให้ดีเสียก่อน
– มีความพร้อมด้านเวลาที่จะให้กับลูก ในการอบรมนิสัยเขา สอดแทรกไปกับกิจกรรมหรือการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะเด็กจำเป็นจะต้องได้รับการพัฒนาตัวเองในทุกแง่มุม ไม่เฉพาะแต่ด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงทักษะชีวิต จริยธรรม ต้องฝึกให้เขามีความมั่นคงทางอารมณ์ มีความสามารถในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และสามารถเข้าสังคมได้อย่างไม่มีปัญหา
– ต้องมีความเข้าใจพัฒนาการตามวัยของลูก เพื่อจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับช่วงวัย เช่น ในวัยแรกเกิดถึงวัยอนุบาล เป็นช่วงวัยที่ควรเสริมพัฒนาการพื้นฐานให้ครบทุกด้าน ในระดับประถมควรเสริมในส่วนวิชาการพื้นฐานทุกวิชาและจริยธรรม ในระดับมัธยมจะเป็นช่วงที่สำรวจตัวเองเพื่อค้นหาความถนัด เป็นต้น
– ต้องมีวินัยกับทั้งตนเองและลูก มีความจริงจังในการเรียน มิฉะนั้นการเรียนรู้จะล้มเหลวได้
– ต้องมีการจัดการที่ดี ทั้งการวางแผนการเรียนรู้สำหรับลูก การจัดบ้านให้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ การจัดโอกาสให้ลูกได้มีปฏิสัมพันธ์กับเด็กวัยเดียวกับเขาเพื่อให้ไม่ขาดทักษะในการเข้าสังคม การค้นคว้าแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ การติดต่อประสานงานกับกลุ่มโฮมสคูล และยังมีโรงเรียนที่จะต้องพาลูกไปขึ้นทะเบียนเพื่อการเทียบโอนกับระบบโรงเรียน
– ที่สำคัญคือความพร้อมของพ่อแม่เอง ที่จะต้องทำหน้าที่เป็นครูของลูก ให้เวลากับการเรียนรู้ของลูกอย่างเต็มที่ พร้อมที่จะเรียนรู้ไปกับเขา หมั่นศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับวิธีการสอนตลอดเวลา
เด็กระดับไหนเรียนโฮมสคูลได้บ้าง
สำหรับการศึกษาแบบโฮมสคูล ในประเทศไทยสามารถให้เริ่มเรียนได้ตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยสามารถไปจดทะเบียนตามสถานที่ที่ในแต่ละระดับชั้นกำหนดไว้
ระดับอนุบาล
สามารถจดทะเบียนเพื่อจัดการศึกษาบ้านได้เมื่อลูกมีอายุ 3 ขวบ ซึ่งในระดับอนุบาลก็แล้วแต่ความสะดวกของคุณพ่อคุณแม่ว่าจะจดทะเบียนให้ลูกหรือไม่ หากมีความพร้อมก็ไปยื่นคำขออนุญาตจดทะเบียนในเขตพื้นที่การศึกษาได้เลย
ระดับประถมศึกษา
สามารถยื่นคำขออนุญาตจดทะเบียน และจัดการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาตามภูมิลำเนา
ระดับมัธยมศึกษา
จะมีตัวเลือกในการดำเนินการดังนี้
– ยื่นคำขออนุญาตจดทะเบียนจัดการศึกษาที่สำนักงานเขตพื้นที่การมัธยมศึกษา
– ลงทะเบียนเป็นนักเรียนกศน. (การศึกษานอกระบบ)
– ลงทะเบียนเป็นนักเรียนกับการจัดการศึกษาทางไกล
หลังจากที่มีการจดทะเบียนตามหลักนี้ เมื่อลูกเรียนจบการศึกษาในแต่ละระดับ ก็จะได้รับวุฒิการศึกษาในระดับนั้นๆ ซึ่งสามารถนำวุฒิไปใช้เรียนต่อในระบบได้เลย หากเรียนจบในชั้นมัธยมปลายแล้วก็จะสามารถนำวุฒิการศึกษาไปสอบเข้าเพื่อเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้เช่นกัน
ขั้นตอนการยื่นคำขออนุญาตจดทะเบียนกับเขตพื้นที่การศึกษา
กระทรวงศึกษาธิการได้มีการลงนามในกฎกระทรวง ว่าด้วยสิทธิการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว พ.ศ. 2547 แล้ว โดยพ่อแม่ที่มีความต้องการจะจัดการศึกษาให้แก่ลูกด้วยตนเองต้องดำเนินการดังนี้
1. เตรียมความพร้อมโดยการศึกษาข้อมูลความรู้ที่ตรงกับระดับพัฒนาการของลูก และค้นหาความสนใจพิเศษของเขา
2. ยื่นขอข้อมูลและระเบียบการได้จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตามท้องที่ที่อาศัย เพื่อทำหลักสูตรและแผนการสอน
3. หลักฐานวุฒิการศึกษาของผู้ปกครองต้องไม่ต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า
4. หากเด็กมีความบกพร่องในวิชาการด้านใดด้านหนึ่ง เช่น อ่อนในวิชาคณิตศาสตร์ ทางเขตจะให้เวลาซ่อมเสริม เพื่อประเมินใหม่อีกครั้ง
5. ให้พ่อแม่ประเมินความรู้ของเด็กตามหลักเกณฑ์ในหลักสูตรขั้นพื้นฐาน โดยทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะตรวจสอบปีละ 1 ครั้ง ว่าเด็กมีพัฒนาการตรงตามที่ครอบครัวประเมินไว้หรือไม่ และกำหนดความสามารถของเด็กว่าเทียบได้ในระดับชั้นใด
6. หากครอบครัวใดมีความพร้อมลดลง ไม่สามารถทำโฮมสคูลได้ต่อ เด็กก็สามารถเข้าเรียนโรงเรียนได้ตามปกติ ตามระดับชั้นที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้เทียบไว้
ในการจดทะเบียนกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอาจจะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากสักเล็กน้อย แต่จะสามารถรับเงินอุดหนุนรายหัวตามที่ทางสพฐ. กำหนดไว้
การเรียนโฮมสคูลจัดการสอบกันแบบไหน
ในการประเมินผลด้วยการสอบ พ่อแม่จะเป็นผู้วัดผลและประเมินเด็กด้วยตัวเอง โดยทำตามหลักเกณฑ์ในหลักสูตรขั้นพื้นฐาน หรือตามข้อตกลงที่ให้ไว้กับทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะเข้าร่วมประเมินพร้อมกับพ่อแม่เด็กปีละ 1 ครั้ง และจะเทียบระดับชั้นให้เด็กหลังจากทำการวัดผล
ข้อดีของการเรียนโฮมสคูล
– คุณพ่อคุณแม่ได้ใช้เวลาอยู่กับลูกได้อย่างเต็มที่
– สามารถจัดการเรียนการสอนและปรับหลักสูตรให้เหมาะกับลูกได้ พ่อแม่สามารถตัดสินใจได้เองว่าสิ่งไหนหรือเวลาไหนเหมาะสมที่จะให้ลูกได้เรียนรู้
– ไม่มีการเปรียบเทียบผลการเรียนกับเพื่อนร่วมชั้น เด็กจะไม่ต้องเผชิญความกดดันในการเรียน และไม่รู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าคนอื่น
– การเรียนรู้ของลูกสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และเด็กจะไม่รู้สึกว่าต้องมีเวลาเปิดเทอมหรือปิดเทอม ทุก ๆ วันคือการเรียนรู้ของเขา เป็นการปลูกฝังนิสัยรักการเรียนรู้ให้กับลูก
– คุณพ่อคุณแม่หมดกังวลกับปัญหา Bullying
– สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าเทอม ค่าชุดนักเรียน
– ลูกจะได้รับทักษะในการใช้ชีวิตมากมายหลายอย่างที่การเรียนในระบบโรงเรียนปกติไม่สามารถจัดให้ได้
ข้อเสียของการเรียนโฮมสคูล
– ไม่เหมาะสำหรับพ่อแม่ที่มีเวลาน้อย เพราะการเรียนการสอนแบบโฮมสคูลนั้น พ่อแม่ต้องมีเวลาอยู่กับลูกค่อนข้างมาก และยังต้องใช้เวลาในการศึกษาหาข้อมูลเพื่อวางหลักสูตรและแผนการเรียนของลูกอีก
– การวางแผนการสอนเป็นงานที่หนักมาก ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าลูกเรียนวิชาการบางตัวอ่อนกว่าเด็กวัยเดียวกันที่เข้าเรียนในระบบโรงเรียนตามปกติ
– พ่อแม่อาจจะเจอแรงกดดันจากญาติผู้ใหญ่หรือคนใกล้ชิดในครอบครัว ที่มองว่าการให้เด็กเรียนเองที่บ้านเป็นการสร้างความแปลกแยกให้กับเด็ก จะมีผลให้เด็กเข้าสังคมกับเด็กวัยเดียวกันลำบาก หรือแม้แต่ถูกมองว่าตัวคุณพ่อคุณแม่เป็นพวกต่อต้านสังคมเสียเอง
– เด็กบางรายอาจจะมีปัญหาในการปรับตัวในการอยู่ร่วมกันกับเด็กคนอื่นจริงๆ ในจุดนี้พ่อแม่ก็ต้องจัดกิจกรรมเสริมให้เขาได้มีทักษะในการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนวัยเดียวกัน
– เด็กอาจจะขาดทักษะในการเผชิญความกดดันและแก้สถานการณ์บางอย่าง เช่น การสอบแข่งขัน หรือการทำงานกลุ่มร่วมกับเพื่อนแล้วมีคนไม่ยอมช่วยงาน ซึ่งจะพบได้จากการเข้าเรียนในระบบโรงเรียนเป็นส่วนมาก
ลูกคนเดียวจะให้เรียนโฮมสคูลดีไหม
คุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจจะมีความกังวลว่าการมีลูกเพียงคนเดียว แล้วตัดสินใจให้เขาเรียนโฮมสคูล จะเหมือนกับเป็นการเก็บเขาไว้แต่กับบ้าน เป็นการจำกัดแวดวงสังคมของเขาให้ยิ่งแคบลงไปอีก ต่างจากเด็กโฮมสคูลคนอื่นที่มีพี่น้องและเลือกเรียนในแบบโฮมสคูลกันทั้งบ้าน เด็กเหล่านั้นก็ยังจะได้มีสังคมกันเอง มีการต่อล้อต่อเถียงกันในหมู่พี่น้อง มีการแข่งกันเรียน คุณพ่อคุณแม่คงจะกลัวว่าลูกรักเพียงคนเดียวจะกลายเป็นเด็กไม่มีสังคมเพราะเรียนโฮมสคูล
นี่เป็น 3 สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้เพื่อให้ลูกได้ฝึกการเข้าสังคมและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
– ติดต่อกับเครือข่ายผู้ปกครองโฮมสคูล เพราะการเข้าไปเป็นสมาชิกในคอมมูนิตี้ก็จะทำให้ลูกได้เจอเด็กหลากหลายในกลุ่ม และส่วนมากจะมีการพาเด็กออกไปทริปทัศนศึกษาด้วยกันเป็นหมู่คณะอยู่แล้ว ลูกก็จะได้ใช้เวลาตรงนี้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับคนในวัยเดียวกับเขา
– สนับสนุนให้ลูกเล่นกีฬาประเภททีม เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีมผ่านทางการเล่นกีฬา และเหมาะมากกับพ่อแม่ที่ไม่ได้มีความถนัดที่จะส่งเสริมสมรรถภาพในด้านกีฬาให้ลูกด้วยตัวเอง
– ให้ลูกเข้ากิจกรรมพิเศษตามความสนใจของเขา เช่น ชมรมอ่านหนังสือ ชมรมบอร์ดเกม หรือการเรียนกิจกรรมเสริมทักษะด้านอื่น เช่น เรียนเต้น หรือการเข้าเป็นอาสาสมัครให้กับชมรมหรือองค์กรการกุศล
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะตัดสินใจเลือกหลักสูตรการเรียนแบบไหนให้กับลูก อย่าลืมที่จะหาข้อมูลให้ครบถ้วน ประเมินถึงความพร้อมในด้านต่างๆ ทั้งของตนเองและของลูก ถ้าได้เปิดโอกาสให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วยก็จะยิ่งดีมาก จะได้เป็นการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้เขาอย่างแท้จริง
ที่มา: Story Motherhood