เยอรมนี หรือมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในสหภาพยุโรป ทั้งยังเป็นจุดหมายการเข้าเมืองยอดนิยมอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา
ที่สำคัญ เยอรมนียังเป็นปลายทางการเรียนต่อต่างประเทศที่นักศึกษาต่างชาติส่วนใหญ่ให้ความสนใจ และหากคุณเองก็เป็นคนหนึ่งที่แพลนไว้ว่าจะไปเรียนต่อที่นี่ในระดับสูงกว่าปริญญาตรีแล้วล่ะก็ ลองมาอ่านคำแนะนำที่มีประโยชน์เหล่านี้กัน
1. เลือกมหาวิทยาลัยให้ตรงใจ
องค์กรแลกเปลี่ยนทางวิชาการของเยอรมนี (DAAD) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มีฐานข้อมูลเกือบ 2,000 หลักสูตรให้ค้นหา รวมถึง 1,389 หลักสูตรที่เป็นภาษาอังกฤษ
แต่เป็นเรื่องที่น่าเสียดายสำหรับการเรียนปริญญาตรีในประเทศเยอรมนี เพราะมีหลักสูตรที่สอนเป็นภาษาอังกฤษให้เลือกค่อนข้างจำกัด แม้ว่าจะมีบางหลักสูตรที่สอนทั้งภาษาอังกฤษและภาษาเยอรมันก็ตาม (โดยทั่วไปจะเริ่มด้วยภาษาอังกฤษใน 2- 4 ภาคเรียนแรก ก่อนจะเปลี่ยนเป็นภาษาเยอรมัน)
2. ตรวจสอบข้อกำหนดการรับเข้าเรียน
ก่อนทำการสมัคร จำเป็นต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณวุฒิการศึกษาที่เรามีอยู่นั้นได้รับการยอมรับจากมหาวิทยาลัยที่เราเลือก และสำหรับนักเรียนต่างชาตินั้นจะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ใน hochschulzugangsberechtigung (HZB) ซึ่งเป็นคุณสมบัติในการเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาของเยอรมนี
3. สำรวจการเงิน
เพื่อให้ตรงตามข้อกำหนดวีซ่านักเรียน จำเป็นต้องแสดงหลักฐานว่าคุณมีความสามารถในการจ่ายประมาณ 8,700 ยูโรต่อปี หรือประมาณ 312,800 บาท เพื่อให้ครอบคลุมค่าครองชีพ ซึ่งอาจจะเป็นจำนวนเงินที่สูงกว่านี้โดยขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์และนิสัยการจับจ่ายใช้สอยของเราเอง โดยเฉลี่ยแล้วนักเรียนในเยอรมนีใช้จ่ายไปประมาณ 850 ยูโรต่อเดือน หรือราวๆ 30,000 บาท
ทั้งนี้ ค่าครองชีพแตกต่างกันไปตามสถานที่ตั้ง โดยจากการผลการสำรวจค่าครองชีพของ Mercer มิวนิคเป็นเมืองที่ค่าครองชีพแพงที่สุดในประเทศนี้
4. สมัครเข้าเรียน
สำหรับสาขาวิชาส่วนใหญ่นักศึกษาสามารถสมัครโดยตรงกับสำนักงานระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัย เว็บไซต์ www.uni-assist.de ซึ่งเป็นพอร์ทัลรับสมัครส่วนกลางสำหรับนักศึกษาต่างชาติดำเนินการโดยองค์กรแลกเปลี่ยนทางวิชาการของเยอรมนี (DAAD)
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่มหาวิทยาลัยทุกแห่งที่ใช้วิธีการสมัครเช่นนี้ ซึ่งนักศึกษาอาจต้องทำการสมัครเรียนต่อในหลายๆ หลักสูตรและหลายมหาวิทยาลัยเพื่อเพิ่มโอกาสในการตอบรับเข้าเรียนต่อ
ในมหาวิทยาลัยเยอรมันหลายแห่งสามารถสมัครเข้าเรียนได้ปีละสองครั้ง เพื่อเริ่มเรียนในภาคฤดูหนาว หรือภาคฤดูร้อน สำหรับการลงทะเบียนช่วงฤดูหนาวจะต้องทำภายในวันที่ 15 กรกฎาคม และภายในวันที่ 15 มกราคมสำหรับการลงทะเบียนภาคฤดูร้อน อย่างไรก็ตาม วันปิดรับสมัครจะแตกต่างกันไปตามสถาบันการศึกษา
5. ทำประกันสุขภาพ
ก่อนที่จะเดินทางออกนอกประเทศ ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้ซื้อประกันสุขภาพเพื่อคุ้มครองตนเองระหว่างที่อาศัยอยู่ในเยอรมนี ซึ่งจำเป็นต้องมีทั้งก่อนลงทะเบียนเรียน และก่อนที่คุณจะได้รับวีซ่านักเรียน หรือใบอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่
6. หาหอพัก
เมื่อได้รับการตอบรับให้เข้าเรียนและทำวีซ่าเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปที่แนะนำคือให้เริ่มมองหาหอพักไว้ได้เลย เนื่องจากมหาวิทยาลัยในเยอรมนีส่วนใหญ่ไม่มีที่พักให้กับนักศึกษาที่ลงทะเบียน โดยค่าเช่าห้องนั้นจะแตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาคที่เลือกอาศัยอยู่
7. ลงทะเบียน
จำเป็นต้องลงทะเบียนก่อนที่จะเริ่มศึกษาเล่าเรียนในหลักสูตรที่เลือก หรือสามารถใช้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกของมหาวิทยาลัยอย่างเช่นห้องสมุดได้ และจะต้องลงทะเบียนใหม่ทุกครั้งก่อนที่จะเริ่มเรียนในทุกเทอม
โดยปกติจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ระหว่าง 150 ถึง 250 ยูโร (ประมาณ 5,400 – 9,000 บาท) ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัย แต่อาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมประมาณ 180 ยูโร (ประมาณ 6,400 บาท) สำหรับค่าขนส่งสาธารณะเป็นเวลา 6 เดือน
และเมื่อทำการลงทะเบียนแล้ว คุณจะได้รับใบรับรองการลงทะเบียนซึ่งสามารถใช้เป็นรหัสนักศึกษาชั่วคราวในการยื่นขอใบอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ และลงทะเบียนในคลาสเรียนได้
หากมีความกังวลหรือไม่แน่ใจเกี่ยวกับอะไรก็ตาม สามารถเข้าไปขอความช่วยเหลือจากบริการให้คำปรึกษาจากคณะกรรมการนักเรียน (Fachschaft) หรือสำนักงานระหว่างประเทศในมหาวิทยาลัยที่เราเลือกเรียน
ที่มา: topuniversities