เคยสงสัยไหมว่า การจะไปเรียนต่อในต่างประเทศเราต้องเตรียมพร้อมอย่างไรกันบ้าง?
อย่าว่าแต่ขั้นตอนการแพ็คกระเป๋าเลย เอาง่ายๆ แค่การเลือกมหาวิทยาลัยหรือหลักสูตรที่น่าสนใจนั้นจะไปหาข้อมูลที่ไหน? แค่นี้ก็ทำให้หลายคนรู้สึกท้อใจกันมานักต่อนักแล้ว
เพราะฉะนั้นวันนี้เราจึงมีเทคนิคดีๆ ที่ได้มาจากงาน GoUni in Chiang Mai ที่พึ่งจัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมามาฝาก งานนี้เตรียมจดลิสต์พร้อมเตรียมตัวแบบ Step by Step กันได้ลย!
1. หาข้อมูลให้ได้มากที่สุด
การหาข้อมูลทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพราะมีเพจหรือเว็บไซต์เพื่อการศึกษามากมายพร้อมใจกันสรรหาข้อมูลดีๆ มาแปะไว้ถึงที่ (อย่างเรานี่ไง อิอิ ><) รอแค่ให้คุณเข้าไปเปิดอ่านเท่านั้น
แล้วจะหาข้อมูลในเรื่องอะไรดีล่ะ? ขั้นแรกก็ดูจากเป้าหมายว่าเราอยากจะเรียนต่อเพื่อใช้ทำอะไร จากนั้นลองดูว่ามีคณะไหนที่จะตอบโจทย์สิ่งที่เราตั้งเป้าหมายไว้ได้บ้าง
ขั้นที่สอง พอรู้ว่าอยากเรียนอะไรแล้ว ก็มาลองดูว่ามีสถาบันไหนเปิดสอนในคณะเหล่านั้นบ้าง ซึ่งในส่วนนี้แนะนำว่าควรหาข้อมูลให้ได้กว้างมากที่สุด ไม่ใช่แค่ในสถาบันที่มีชื่อเสียง เพราะสำหรับบางมหาวิทยาลัยแล้ว แม้ว่าจะไม่ติด Top 10 แต่คณะที่คุณสนใจอาจเป็นหลักสูตรขึ้นชื่อของสถาบันเหล่านั้นก็เป็นได้
2. ยืนสมัครเรียน
หลังจากที่รวบรวมข้อมูลได้แล้วทีนี้ก็ถึงขั้นตอนของการสมัครเรียน ซึ่งระยะเวลาที่เหมาะสมที่สุดคือ 1 ปี เพราะเป็นช่วงเวลาที่คุณจะได้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันของสถาบันที่อยากไปเรียน แถมยังมีเวลาเตรียมตัวเหลือเฟือ
ในส่วนนี้นอกจากการยื่นสมัครเรียนแล้ว ยังเป็นช่วงเวลาที่คุณสามารถเตรียมตัวในส่วนอื่นๆ เช่น ทดสอบทักษะภาษาอังกฤษเพื่อนำคะแนนไปยื่น (ทั้งในส่วนสมัครเรียน หรือแม้กระทั่งขอทุนการศึกษา) เตรียมเอกสาร (เรียงความ ,ผลงานที่เคยทำ , จดหมายแนะนำ ฯลฯ)
3. ยื่นขอวีซ่า
เมื่อได้รับจดหมายตอบรับเข้าเป็นนักศึกษาของสถาบันเเล้ว ในส่วนนี้จะเป็นขั้นตอนที่ชวนลุ้นที่สุด ไม่ว่าจะไปเรียนต่อ ณ ที่ไหนก็ตาม เพราะการยื่นขอวีซ่าต้องใช้เวลาดำเนินการ อีกทั้งความยากง่ายของการผ่านวีซ่าก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละประเภท
คำแนะนำง่ายๆ ก็คือ ควรศึกษาลักษณะของวีซ่าในประเทศที่จะไป รวมไปถึงประเภทของวีซ่าที่จะขอ เพราะพอเราเข้าใจแล้วว่าเงื่อนไขของแต่ละแบบเป็นอย่างไรก็จะสามารถเตรียมตัวได้พร้อมกว่า ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้วหากหลักฐานครบ จุดประสงค์เคลียร์ และมีตารางเวลาที่กำหนดอย่างเเน่นอนแล้ว โดยส่วนมากก็มักจะผ่านวีซ่าได้อย่างสบายใจ
4. ได้เวลาจองตั๋วเครื่องบินและอื่นๆ แล้ว!
ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการจองที่พักคือ 6 เดือนก่อนหน้าที่จะเดินทางเพื่อให้คุณมีเวลาได้ศึกษาเส้นทางระหว่างที่พักซึ่งไม่ว่าจะเป็นหอนักศึกษา อพาร์ทเมนท์ หรือแม้แต่โฮสต์แฟมิลี่ กับสถาบันที่คุณจะเดินทางไปเรียนว่าใกล้หรือไกลแค่ไหน รวมไปถึงเปรียบเทียบค่าเดินทางได้ด้วย
ส่วนระยะเวลาที่จะจองตั๋วเครื่องบินควรเป็น 3 เดือนก่อนเดินทาง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ยื่นขอวีซ่า ในส่วนนี้คุณต้องมีทั้งที่พักและสถาบันที่จะเดินทางไปเรียนแล้ว เพราะฉะนั้นคุณจะสามารถวางแผนได้ว่าจะเลือกไปลงที่สนามบินไหน อีกทั้งยังมีเวลามากพอที่จะเปรียบเทียบราคาตั๋วเครื่องบินด้วย
ในส่วนของของใช้ส่วนตัว ตามปกติแล้ว ว่ากันว่าไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนเรามักมีของเพิ่มขึ้นจากเดิมอยู่เสมอ ดังนั้นแนะนำว่าควรเตรียมไปเฉพาะของที่จำเป็น เพราะไม่อย่างนั้นขากลับคุณอาจต้องกระเป๋าฟีบจากการจ่ายค่าน้ำหนักกระเป๋าเพิ่มแน่ๆ (ฮ่า)
เคล็ด (ไม่ลับ) คำแนะนำเพื่อการใช้ชีวิตในต่างแดน
– ตามปกติแล้วสถาบันที่อยู่นอกเมืองหลวงจะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าในตัวเมือง แต่อีกอย่างหนึ่งที่ต้องคำนึงคือความดังของสถาบัน เพราะยิ่งดังมาก ก็ยิ่งแพงมาก
– ยาหรือของใช้ส่วนตัวหลายๆ อย่างไม่มีขายเป็นกิจลักษณะ หากคุณมียาประจำตัวแนะนำให้เตรียมไปให้พร้อม และขอใบรับรองแพทย์ฉบับภาษาอังกฤษเพื่อให้ไปขอรับยาตามสถานพยาบาลได้ง่าย
– จริงๆ แล้วสำหรับคนที่มีเป้าหมายชัดเจนสามารถเตรียมตัวล่วงหน้าได้หลายปี เพื่อให้มีคะแนนสอบที่น่าพอใจ และจะได้ศึกษาคณะที่สนใจได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น
– การจองที่พักโดยที่เราไม่ได้ไปเห็นสถานที่ก่อนแนะนำว่าควรดูรีวิวให้ดี พร้อมศึกษาเส้นทางด้วย เพราะไม่งั้นคุณอาจได้ที่พักที่ไม่น่าประทับใจมาในราคาแพงก็เป็นได้
– นักศึกษาที่ไปเรียนต่อระดับปริญญาโทสามารถทำงานพิเศษได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่สำหรับคนที่ไปเรียนภาษา ไม่สามารถทำงานได้นะจ๊ะ
สำหรับใครที่กำลังวางแผนอยากไปเรียนต่อต่างประเทศ สามารถนำเทคนิคเหล่านี้ไปใช้เตรียมตัวได้เลย สิ่งสำคัญคือควรอัปเดทข้อมูลอยู่เสมอ เพื่อให้รู้ว่ามีข้อกำหนดอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง :)