คนที่เดินเข้ามาในชีวิตเรามักมาพร้อมกระจกบ้านเล็กๆ บานหนึ่งที่ส่องให้เห็นตัวเราเองแวบๆ อาจเป็นความชอบหรือไม่ชอบบางอย่างในตัวเขา ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้คือสิ่งที่คนนั้นกำลังเดินเข้ามาบอกว่า “นี่ล่ะตัวคุณ” เพียงแต่คนเรามักทุบกระจกบานนี้แตกก่อนที่จะได้เรียนรู้
Dr.Hal และ Dr.Sidra Stone นักจิตวิทยาผู้ค้นคว้าเรื่อง “Voice Dialogue” หรือสุนทรีสนทนา กล่าวว่า คนเรามันมีตัวตนที่เราอาจจะเคยหรืออยากเป็น แต่เราไม่เลือกที่จะเป็น หรือไม่สามารถเป็นเช่นนั้นได้ เมื่อคุณสมบัติเช่นนี้ไปตกอยู่กับใครสักคนที่โคจรมาก็จะเกิดการเขย่าหัวใจกันให้สั่นไหว
เราอาจรับไม่ได้ รังเกียจ เกิดความรู้สึกขัดแย้งกับคนนั้น เพราะสิ่งที่เขามีคือสิ่งที่เราขาด หรือไม่แน่ อาจเป็นสิ่งที่เราอยากมี แต่ไม่อาจมีได้ เช่น คุณนายระเบียบได้รับการเลี้ยงดูโดยครอบครัวที่เข้มงวด แม้จะไม่แฮ็ปปี้กับความตึงเครียดที่ต้องเป๊ะทุกอย่าง แต่เธอก็ไม่กล้าจะเป็นคนเหลวไหลในสายตาของพ่อแม่เมื่อมีคุณชายระเบียบผ่านเข้ามา เธอจึงรับไม่ได้ ซึ่งจริงๆแล้วบางครั้งเธอก็อยากผ่อนคลายไร้ระเบียบบ้าง แต่ไม่กล้าฉีกนอกกรอบเดิมๆ
คุณอาจลองค้นคว้าหามุมที่ไม่เคยมอง โดยหาที่นั่งสบายๆเตรียมกระดาษปากกา แบ่งกระดาษเป็น 4 ช่อง ช่องที่ 1 ลองลิสต์นิสัยเสียที่คุณรับไม่ได้ ช่องที่ 2 ลองจดว่า นิสัยอะไรที่คุณอยากให้เป็น ช่องที่ 3 ลองพิจารณาดูข้อดีของนิสัยขอเสียนั้น ช่องที่ 4 หาข้อเสียของการมีนิสัยในช่องที่ 2 (นิสัยที่คุณอยากให้เป็น) มากเกินไป
การที่เราไม่ชอบใครสักคนกลับมีมุมที่เราไม่เคยมอง แต่สะท้อนบางสิ่งที่เราขาดไปได้เหมือนกัน เมื่อใจเราเปิดกว้างพอที่จะรับใครในขั้วตรงข้ามเข้ามานั่งในใจแล้ว ลองค้นหาและทำความเข้าใจดูว่าเขาต้องการอะไร เขาเองก็มีความต้องการไม่ต่างจากที่เรามีและคงต้องการได้รับการตอบสนองด้วย
บนเส้นทางแห่งความขัดแย้ง เราสามารถ “สื่อสารอย่างสันติ” เริ่มจากการฟังอย่างลึกซึ่งโดยปราศจากการวิพากษ์วิจารณ์พยายามทำความเข้าใจความต้องการทั้งของเราและเขาแล้วสื่อสารออกมา มี 4 ขั้นตอน ดังนี้
1. สังเกต แล้วบอกเล่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น
2. บอกความรู้สึก ของตัวคุณเองอย่างจริงใจตรงไปตรงมา
3. บอกความต้องการ ตรงประเด็นว่าคุณอยากให้เขาทำอะไร
4. ร้องขอ เรียกร้องให้เกิดการลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรมเช่น คุณไม่พอใจที่เพื่อนร่วมงานมักจะลืมบอกกำหนดการนัดประชุมกับลูกค้า ทำให้คุณรู้ล่วงหน้าไม่นาน
คำพูดที่ไม่ก่อให้เกิดสันติ :
“ทำไมคุณไม่ยอมบอกผมล่วงหน้าสักทีคุณขี้ลืมอย่างนี้ทำผมเสียหายแค่ไหนเคยรู้บ้างไหม ผมเตรียมตัวไม่ทัน ลูกค้าด่าผมตายเลย”
สื่อสารอย่างสันติ :
“ผมสังเกตว่าในการประชุมกับลูกค้าสองสามครั้งหลังนี้ คุณมักจะลืมบางผมล่วงหน้า (สังเกต) ผมรู้สึกอึกอัดมากเลยที่ต้องเตรียมตัวกะทันหัน (ความรู้สึก) ผมอยากให้คุณให้ความสำคัญกับเรื่องนี้สักหน่อยนะครับ (ต้องการ) คราวหน้ากรุณาบอกผมล่วงหน้าสักสองสามวันด้วยนะครับ (ร้องขอ)”
ในกฎแห่งความเปลี่ยนแปลง ไม่มีมิตรแท้และสัตรูถาวรเมื่ออคติผ่านพ้นไป ในใจคุณเปิดกว้างขึ้น คุณอภัยได้แม้คนที่ไม่น่าอภัย คบได้แม้คนที่ไม่น่าคบ โลกคุณจะเบาสบายขึ้นเมื่อมีมิตรมาแทนที่ศัตรู และแม้แต่ศัตรูที่เคยเป็นยาพิษก็กลายเป็นครูผู้ชี้แนะให้คุณเห็นตัวเอง นี่คือยาบำรุงที่เป็นภูมิคุ้มกันในที่แท้จริง
source: krabork