เพื่อนๆคนไหนกำลังมีปัญหาในเรื่องรูปแบบของการเขียน Resume อยู่ วันนี้เรามีเคล็ดลับดีๆมาฝากเพื่อนกันครับ ซึ่งจะช่วยให้เพื่อนๆเขียนง่ายขึ้น เป็นสากล แถมยังใช้สมัครงานได้อย่างเป็นทางการและน่าเชื่อถือเลยทีเดียว
ส่วนที่ 1 – หัวเรื่องและวัตถุประสงค์ (Heading and Objective)
ส่วนหัวกระดาษต้องระบุชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์และอีเมล์ที่สามารถติดต่อเราโดยตรงได้ ส่วนวัตถุประสงค์คือการระบุตำแหน่งงานที่เราต้องการสมัคร อาจมีการระบุจำนวนเงินเดือนที่ต้องการด้วยก็ได้ เดี๋ยวเรามาดูตัวอย่าง resume อีกทีท้ายบทความนะ
ส่วนที่ 2 – ข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง (Personal Details)
อาจไม่ต้องถึงขั้นใส่ข้อมูลแบบละเอียด จำพวกน้ำหนัก ส่วนสูง ศาสนา กรุ๊ปเลือด เพราะบางบริษัทก็ต้องการความเป็นมืออาชีพ หรืออาจมีเตรียมใบสมัครไว้ให้กรอกอีกทีหนึ่ง สิ่งที่เราควรใส่ใน resume ส่วนหัวจึงเป็นเพียงที่อยู่ เบอร์โทร และอีเมล์ก็พอ
เคล็ดลับการเขียน
ให้เรียงลำดับจากความสำคัญ ซึ่งพิจารณาจากประเภทของงานที่เราไปสมัคร เช่น ตำแหน่งงานนั้น ความสูงและน้ำหนักของเราจะมีผลต่อการทำงานหรือไม่ ลองดูอาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินสิครับ มีกำหนดเกณฑ์ส่วนสูงขั้นต่ำไว้ชัดเจน หรือบางที่อาจต้องดูว่าคนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอะไร จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือไม่
ส่วนที่ 3 – ข้อมูลด้านการศึกษา (Education)
เขียนวุฒิการศึกษาที่เราได้รับมา และการฝึกอบรมต่างๆ หรือกิจกรรมนอกหลักสูตรที่เคยเข้าร่วม ถ้าให้ดีต้องเกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานที่สมัครด้วย เช่น สมัครเป็นครู เขียนว่าเคยเข้ารับการอบรมครูอาสาสมัครให้เด็กด้อยโอกาส
เคล็ดลับการเขียน
วุฒิการศึกษา – ให้เรียงจากวุฒิสูงสุดไปต่ำสุด โดยทั่วไปจะถือว่าวุฒิมัธยมปลายหรือ ปวช. เป็นวุฒิต่ำสุดที่ควรอ้างถึง การเขียนให้เรียงลำดับจากช่วงเวลาที่เรียน ชื่อวุฒิที่ได้รับ และชื่อสถาบัน
ข้อสังเกต
– เขียนชื่อวุฒิขึ้นต้นด้วยตัวพิมพ์ใหญ่เสมอ
– ชื่อสถาบัน ให้ใส่จังหวัดที่สถาบันตั้งอยู่ ยกเว้นสถาบันที่ใช้ชื่อจังหวัดเป็นชื่อสถาบัน (เช่น Chiang Mai University, Khon Kaen University)
ส่วนที่ 4 – ข้อมูลด้านประสบการณ์การทำงาน และทักษะอื่นๆ (Experiences and other skills)
ในส่วนนี้จะคล้ายกับข้อมูลการศึกษา โดยเริ่มจากวันเดือนปีที่เริ่มทำงาน ตำแหน่งงาน ชื่อสถานประกอบการ และระยะเวลาที่ทำงานนั้นนอกจากนี้ควรใส่หน้าที่ที่เราได้รับผิดชอบขณะทำงานอยู่ด้วย
เคล็ดลับการเขียน
1. ประสบการณ์ทำงาน – ถ้าเคยผ่านงานมาหลายที่ ให้เขียนงานที่ทำปัจจุบันก่อน แล้วเรียงไปจนถึงตำแหน่งงานแรก
ตัวอย่าง
2008-2010 Managing Director, Procter & Gamble (3 years)
– Coordinate with other functional departments
– Negotiated with potential overseas buyer
2007-2008 General Manager, Sea and Hill Co,Ltd., Chiang Mai (2 years)
– Planned strategies for expanding company market
– Analyzed market status and forecasting trends in the industry
2. การฝึกอบรม – ให้เขียนเรียงลำดับ วันเดือนปีที่อบรม ระยะเวลา ชื่อหลักสูตรในการอบรม และสถาบันที่จัดการอบรม
ตัวอย่าง การอบรมความรู้ด้านการลงทุนในหุ้น
10 June 2012 Fundamental Technical Analysis, organized by Thailand Securities Institute
17 March 2012 Investing in Equity, organized by Thailand Securities Institute
3. ความสามารถพิเศษ – ถ้ามีให้ระบุในส่วนนี้ โดยทั่วไปแล้วควรจะนำเสนอความสามารถทางด้านภาษาของตนเอง หรือความสามารถด้านคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงความสามารถด้านอื่นๆเช่น กีฬา
ตัวอย่าง
English Proficiency: Very Good/ Good/ Fair (เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง)
Computer repair and knowledge of software (ซ่อมคอมพิวเตอร์ได้และมีความรู้ด้านซอฟต์แวร์)
ส่วนที่ 5 – บุคคลที่สามารถอ้างอิงได้ (References)
resume ภาษาอังกฤษที่เราเขียนให้นายจ้างจะดูมีความน่าเชื่อถือสูง ถ้าเรามีชื่อและข้อมูลการติดต่อของบุคคลที่นายจ้างสามารถสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวเราได้ ดังนั้น reference ของเราต้องเป็นบุคคลที่เชื่อถือได้ในวงการธุรกิจ เช่น ต้องเป็นบุคคลที่มีงานมั่นคง หรือมีชื่อเสียง อาจเป็นข้าราชการ หัวหน้าหน่วยงาน หรือเจ้าของกิจการ เป็นต้น
เคล็ดลับการเขียน
ควรหาบุคคลอ้างอิงให้ได้ 2-3 คน ซึ่งไม่ควรทำงานที่เดียวกัน ที่สำคัญคือบุคคลอ้างอิงต้องไม่ใช่ญาติพี่น้องของเรานะ การเขียนให้เรียงจากชื่อ-นามสกุล (ถ้าเป็นอาจารย์ที่มีตำแหน่งต้องใส่คำนำหน้าด้วย เช่น ศาสตราจารย์ = Prof. , รองศาสตราจารย์ = Assoc.Prof) ตำแหน่ง ชื่อสถานประกอบการ และหมายเลขโทรศัพท์
ตัวอย่าง
Mr. Sam Wilson, Personnel Manager, PTI Co.Ltd., Rayong Tel. 038-248-784
อย่างไรก็ตาม resume ที่เราส่งไปนั้นยังไม่ต้องอ้าง reference แต่ให้เขียนว่า “References will be sent on request.” (หมายความว่า เอกสารอ้างอิงจะส่งให้กรณีที่ทางบริษัทร้องขอมา)
ไม่ยากเลยใช่มั้ยล่ะครับเพื่อนๆ ทำตามนี้รับรองว่าอ่านง่าย เป็นทางการ แถมยังทำให้ดูภูมิฐานมากขึ้นเยอะเลยล่ะครับ แล้วอย่าลืมพยายามอย่าให้เกิน 2 หน้านะครับ มันเยอะไป กรรมการเขาแค่แสกนเอาคร่าวๆเท่านั้นแหละครับ
source: eduzones
One Comment
Comments are closed.
[…] ที่มา : Scholarship.in.th […]