เสียงกินมูมมามหรือเสียงเคี้ยวอาหารดังๆของคนอื่นทำให้เพื่อนๆรู้สึกทรมานใจใช่ไหม? บางทีคุณอาจเกลียดการเข้าโรงหนังเพียงเพราะเสียงเคี้ยวป็อบคอร์นของคนข้างๆทำให้คุณอยากมุดเข้าไปในหลุม หรือไม่ก็เสียงเคี้ยวหมากฝรั่งของใครบางคนอาจทำให้คุณรู้สึกปวดสมอง
หากคุณรู้สึกว่าใช่ รำคาญมาก..กรุณาทำใจเย็นๆ คุณอาจเป็นคนที่มีประสาทสัมผัสไวมากกับเสียงต่างๆหรือที่เรียกกันว่าอาการเกลียดเสียง แม้ว่าจะมีประชากรร้อยละ 20 ที่มีอาการดังกล่าวแต่ก็ใช่ว่าจะแย่ไปซะทุกอย่าง เนื่องจากยังมีข่าวดีเกี่ยวกับอาการเกลียดเสียงนี้ด้วย
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์นพบว่าผู้ที่มีประสาทสัมผัสไวกับเสียงต่างๆมีแนวโน้มที่จะมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าคนอื่นๆ ใช่คุณไม่ได้ตาฝาดไปหรอก หากคุณรำคาญเสียงเคี้ยวอาหารของคนอื่นคุณอาจเป็นอัจฉริยะก็เป็นได้ ยิ่งคุณรำคาญมากเท่าไหร่ก็หมายความว่าคุณมีความเป็นอัจฉริยะมากเท่านั้น
อาการเกลียดเสียงเกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์อย่างไร?
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น ได้ขอให้ผู้เข้าร่วมการทดลองจำนวน 100 คนตอบคำถามให้มากที่สุดภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ จากนั้นกลุ่มนักวิจัยได้สังเกตปฏิกิริยาตอบสนองต่อเสียงต่างๆของผู้เข้าร่วมและขอให้พวกเขาทำแบบสอบถามทดสอบความคิดสร้างสรรค์ให้เสร็จก่อนที่จะสรุปการทดลอง
จากการทดลองพบว่าคำตอบที่ได้มีความเชื่อมโยงกันระหว่างผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์มากที่สุดกับผู้ที่มีประสาทสัมผัสไวต่อเสียงรอบข้าง หรืออีกนัยหนึ่งคือยิ่งคุณรำคาญเสียงรบกวนมากเท่าไหร่คุณก็ยิ่งได้คะแนนในการทดสอบความคิดสร้างสรรค์มากเท่านั้น นอกจากนี้กลุ่มนักวิจัยยังเจาะลึกพฤติกรรมของ “อัจฉริยะผู้สร้างสรรค์” อย่างชาร์สส์ ดาร์วิน, แอนตัน เชคอฟ และนักเขียนนวนิยาย มาร์แซล พรุสต์ ปรากฏว่าผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้มีอาการเกลียดเสียงอย่างรุนแรง แม้แต่ฟรานซ์ คาฟคา หนึ่งในนักเขียนนวนิยายที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในศตวรรษที่ 20 ก็เคยกล่าวไว้ว่า “ฉันต้องการความสงบในยามที่เขียนหนังสือ แต่ไม่เอาแบบตัดขาดจากโลกภายนอกนะเพราะแบบนั้นมันยังน้อยไป ขอแบบเงียบสงบเหมือนตายไปจากโลกนี้เลยดีกว่า”
ดังนั้นหากคราวหน้าคุณนั่งข้างๆคนที่กินอาหารเสียงดัง คุณควรสูดลมหายใจเข้าลึกๆ และเตือนตัวเองว่าคุณเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์
วิธีรับมือกับผู้ที่กินอาหารเสียงดัง
ไม่ใช่ทุกคนในโลกที่มีมารยาทในการรับประทานอาหารอย่างที่คุณต้องการ อย่างไรก็ตามเรามีวิธีรับมือกับเสียงเคี้ยวอาหารที่น่ารำคาญเหล่านี้ได้ พาเวล แจสเทอร์บอฟฟ์ ซึ่งเป็นผู้บัญญัติคำว่าอาการเกลียดเสียงได้ช่วยเหลือผู้ที่มีอาการเหล่านี้โดยการสอนให้พวกเขาพยายามคิดถึงเสียงเหล่านี้ในแง่บวก จากนั้นก็ค่อยๆลดความรู้สึกในแง่ลบลง เทคนิคของแจสเทอร์บอฟฟ์ได้ผลมากกว่าร้อยละ 80 ดังนั้นหากคุณไม่ต้องการใช้ที่อุดหูหรือลุกออกไปจากโต๊ะอาหารกลางคันเมื่อคู่รักหรือสมาชิกในครอบครัวเคี้ยวอาหารเสียงดังก็ลองใช้วิธีของแจสเทอร์บอฟฟ์ดูสิ
source: lifehack.org