ถ้าพูดถึงเรื่องดาราศาสตร์ องค์กรใหญ่ระดับโลกที่เชื่อว่าทุกคนต้องเคยได้ยินชื่อคงหนีไม่พ้น NASA สถาบันดาราศาสตร์ประจำสหรัฐอเมริกาที่เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญสำหรับเรียนรู้เรื่องราวจากนอกโลก
เมื่อไม่นานมานี้ มีตัวแทนเด็กไทยได้รับโอกาสเข้าร่วมอีเวนท์พิเศษกับ NASA ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา และวันนี้ เราจะชวนคุยมาพูดคุยถึงประสบการณ์สุดพิเศษและน่าสนใจนี้กัน
“นิน่า หทัยชนก เทอดธรรมไพศาล” คือตัวแทนคนไทยที่เราได้กล่าวถึงไปในข้างต้น เธอเรียนจบจากแขนงวิชาสื่อใหม่ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งในปัจจุบันได้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์อยู่ที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือที่รู้จักกันในชื่อของ NARIT
โดยโครงการที่เธอได้รับเชิญไปเข้าร่วมนั้น ชื่อว่า อีเวนท์ NASA Social จัดขึ้นเนื่องในโอกาสที่ NASA จะแถลงข่าวโครงการ Moon to Mars
จึงได้มีการคัดเลือกนักผลิตคอนเทนต์และมีสื่อออนไลน์อยู่ในมือเข้าร่วมโครงการในแต่ละสาขาของ NASA รับประมาณ 30 คนต่อหนึ่งสาขา จากทั้งหมด 11 สาขา ซึ่งสถานที่ที่นิน่าเลือกไปคือ NASA Jet’s Propulsion Laboratory (JPL)
JPL ตั้งอยู่ที่เมืองแพซาดีนา รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นแล็ปทดลองและประกอบยานสำรวจดาวเคราะห์เกือบทั้งหมดของ NASA ไม่ว่าจะเป็น ยานวอยเอเจอร์ ยานแคสสินี ยานคิวริออสซิตี ปัจจุบันกำลังประกอบยาน MARS2020 ที่จะปล่อยไปดาวอังคารในอีก 2 – 3 ปีข้างหน้านี้
.
ในครั้งนี้ นิน่าได้เป็นตัวแทนคนไทยและเป็นชาวต่างชาติเพียงคนเดียวที่ได้เข้าร่วมโครงการร่วมกับพลเมืองชาวอเมริกันที่มาจากหลากหลายวงการ ไม่ว่าจะเป็นนักเขียน นักข่าว คุณครู ยูทูปเบอร์ รวมถึงจิตกร
งานหลักของผู้ที่ได้เข้าร่วมคัดเลือกคือร่วมฟังการแถลงข่าวครั้งใหญ่จากผู้อำนวยการของนาซา (ไลฟ์จาก Kenedy Space Center อีกสาขาหนึ่งที่จัดงานพร้อมกัน) พบปะรองผู้อำนวยการของ JPL แล้วก็เยี่ยมชมการทำงานขององค์กร ซึ่งในงานนี้ คนที่ได้รับเชิญจะได้รับอนุญาตให้บันทึกภาพและเผยแพร่ทางออนไลน์ได้ ตามจุดประสงค์ของอีเวนท์
.
ปกติ JPL จะมีระบบรักษาความปลอดภัยแน่นหนา ซึ่งยากที่คนทั่วไปจะสามารถเข้าไปชมในส่วนต่างๆ ได้ หากไม่ใช่การจองทัวร์พิเศษล่วงหน้า หรือเป็นนักศึกษาในสหรัฐฯ นั่นทำให้การได้รับโอกาสที่จะเยี่ยมชมส่วนต่างๆ ของ JPL ถือเป็นเรื่องที่พิเศษมาก
แถมงานนี้ นิน่ายังมีโอกาสได้พบกับ Janelle Wellons วิศวกรหญิงที่ประจำอยู่ที่ห้องควบคุมภารกิจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทีมภารกิจยานแคสสินีที่สำรวจดาวเสาร์ ดูแลส่วนของกล้องที่ติดไปกับยาน
เธอเล่าว่า จากการได้พูดคุยกัน Janelle เล่าให้ฟังว่า ด้วยความเป็นภารกิจระดับชาติต้องสแตนด์บาย 24 ชั่วโมง หากเกิดปัญหาอะไรขึ้นก็ต้องรีบมาที่แล็ป ซึ่งภาพถ่ายดาวเสาร์ทุกรูปจาก NASA ก็มาจาก Janelle สาวเก่งคนนี้นี่เอง นอกจากนี้ Janelle ยังเป็นวิศวกรดูแลภารกิจยานอวกาศสำรวจดวงจันทร์ (Lunar Reconnaissance Orbiter : LRO) อีกด้วย
หลังจากกลับมาจากการร่วมกิจกรรมสุดพิเศษนี้ นิน่าได้ให้สัมภาษณ์ถึงสิ่งที่ได้รับกลับมาจากงานนี้ว่า
” สัมผัสได้ถึงความมุ่งมั่นของมนุษย์ที่จะไปสำรวจอวกาศ ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งการสำรวจอวกาศก็ไม่ใช่แค่การได้รู้ข้อมูลใหม่ๆ นอกโลก แต่กว่าจะไปถึงตรงนั้นก็เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีมากมายเพื่อให้ภารกิจสำเร็จลุล่วง และสุดท้ายเทคโนโลยีเหล่านั้นก็ถูกปรับเปลี่ยนให้ใช้ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ได้
นอกจากนี้ ยังได้ไปพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนที่ทำงานสายสื่อสารองค์กรเหมือนกับเรา ซึ่ง NASA จะเรียกว่าฝ่าย Communication ด้วยความที่เขาเป็นเจ้าของโครงการเอง ดังนั้นจะมีพีอาร์ประจำแต่ละโครงการเลย เช่น โครงการอินไซต์ก็จะมีคนดูแลเรื่องข่าวแจก เขียนบทความ ทำกราฟิก อัพเดทแอคเคาท์ทวิตเตอร์ จัดอีเวนท์ “
สำหรับคนที่สนใจอยากลุ้นรับโอกาสดีๆ แบบนี้บ้าง นิน่าเล่าว่า เงื่อนไขของโครงการนี้คือต้องเล่นโซเชียลมีเดียและสามารถสร้างคอนเทนต์ได้ จะเป็นใคร สัญชาติไหน ทำอาชีพอะไรก็ได้ ขอแค่สนใจเรื่องอวกาศและสิ่งที่ NASA กำลังทำอยู่จริง
อีกเรื่องที่สำคัญคือ “ภาษาอังกฤษ” เพราะอีเวนท์นี้ไม่ใช่เพียงแค่การเยี่ยมชมสถานที่ แต่เป็นโอกาสที่จะได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับสิ่งที่ทำอยู่ของแต่ละคน ดังนั้นภาษาอังกฤษจึงจำเป็นมาก ถ้าใครสนใจ แนะนำให้ติดตามเพจของ NASA หรือแฮชแท็ก #NASASocial จะทำให้ได้รับข้อมูลสำคัญๆ ได้อย่างรวดเร็ว
เกี่ยวกับ NARIT
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NARIT สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบด้านดาราศาสตร์ของประเทศทั้งการวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยี การสร้างเครือข่ายและความร่วมมือด้านดาราศาสตร์
ทางองค์กรต้องการสร้างความตระหนักด้านดาราศาสตร์สู่สังคมไทยผ่านการจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ จัดอบรมให้ทั้งคุณครูและเยาวชน เผยแพร่ข่าวและความรู้ต่างในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ให้ดาราศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับทุกคน
ตามปกติแล้วจะมีการจัดกิจกรรมให้ประชาชนสามารถเข้าร่วมได้ฟรี หากใครสนใจอยากติดตามข่าวสาร สามารถติดตามได้ในช่องทางต่อไปนี้
– เว็บไซต์ : https://www.NARIT.or.th
– เฟซบุ๊ก : https://www.facebook.com/NARITpage/
– ทวิตเตอร์ : https://twitter.com/n_earth
– อินสตาแกรม : https://www.instagram.com/nongearthnarit/