เมื่อราวปี 2013 มีหลายสำนักข่าวรายงานผลงานนักศึกษาไทย ที่องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (Japan Aerospace Exploration Agency : JAXA) คัดเลือกให้ขึ้นไปร่วมทดลองในสภาวะไร้น้ำหนัก บนเครื่องบินที่บินแบบพาราโบลา ในโครงการ “The Student Zero-gravity Flight Experiment Contest” ณ เมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น จากกาสร้างผลงาน “วิจัยสาหร่ายบนอวกาศ”
ความสำเร็จในครั้งนั้นเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่หันมาสนใจการทำวิจัยในหัวข้อที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น และทำให้วันนี้ เราอยากจะชวนคุณมาคุยกับ “อั้ม นพพล ทวีสุข” หนึ่งในทีมวิจัยที่ได้รับเลือกในครั้งนั้น
แนะนำตัวเองสักหน่อย:
“ชื่อ นายนพพล ทวีสุขนะครับ ชื่อเล่น อั้ม ครับ”
เล่าถึงการศึกษาที่ผ่านมา:
“จบชั้นม.6 ที่โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย (ปัจจุบันชื่อ โรงเรียนวิทยาศาสตร์ จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย)”
“พอก้าวเข้าสู่รั้วมหาลัย ได้รับทุนเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย เลยเลือกเรียนที่ คณะวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย…แต่ตอนเรียนดันรู้สึกว่า เลือกคณะ สาขา ที่ไม่เข้ากับตัวเอง เลยเปลี่ยนมาเรียนที่ใหม่ คือ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่”
“ปัจจุบันได้เข้าทำงานที่บริษัท มุราตะ อิเล็กทรอนิกส์ ในตำแหน่งวิศวกรครับ”
เล่าถึงทุนที่เคยได้รับ:
“สำหรับทุนแรกที่ได้รับ ชื่อโครงการว่า “โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำหรับเด็กและเยาวชน (Junior Science Talent Project : JSTP)” โดยทุนนี้เนี่ย จะแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ แบบระยะสั้น และแบบระยะยาว
ทุนระยะสั้นจะได้รับเงินสนับสนุนการทำโครงงาน 10,000 บาท และนักวิจัยพี่เลี้ยงอีก 1 คน ให้เวลาในการทำโครงงาน 1 ปี หากผ่านเกณฑ์การคัดเลือกในตอนสุดท้าย ก็จะได้รับทุนระยะยาว
ส่วนทุนระยะยาว จะเป็นทุนที่สนับสนุนค่าเล่าเรียน /ค่าทำวิจัย ตั้งแต่ปริญญาตรี ถึง ปริญญาเอก โดยทุนทั้ง 2 แบบ สามารถเลือกเรียนคณะวิทยาศาสตร์ หรือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่ไหนก็ได้ในไทย แล้วแต่มหาวิทยาลัยนั้นจะเปิดโครงการ
หลังจากเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว (ตอนนั้นยังเรียนอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ก็ได้รู้จักโครงการ 7th Student Zero Gravity Flight Experiment Contest (ปัจจุบันไม่มีโครงการนี้แล้ว) ที่เปิดส่งประกวดของโครงงานเพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยไปทำการทดลองที่ประเทศญี่ปุ่น เลยลองชวนพี่ๆ ที่รู้จักมาทำวิจัยร่วมกัน จนได้รับเลือกให้เข้าร่วมโครงการ”
ประสบการณ์น่าประทับใจตอนที่ได้ทุนโครงการนี้:
“เรียกว่า เราได้รับอะไรหลายๆ อย่างจากโครงการนี้เลยครับ ทั้งความรู้ด้านวิชาการ ได้รู้จัก สร้างความสัมพันธ์กับพี่ๆ เพื่อนๆ และน้องๆ ที่มีอุดมการณ์ มีความสามารถจากทุกๆ ที่ในประเทศไทย
และที่สำคัญทำให้เราได้พัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งตอนอยู่ในโครงการนั้นตอนแรกรู้สึกเกร็งมาก มีแต่คนเก่งๆ แต่พอเวลาผ่านไปทำให้เราสามารถปรับตัวได้ ซึ่งต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมาก
สำหรับทุนที่ได้เป็นตัวแทนประเทศไปทำโครงงานที่ญี่ปุ่น เหมือนเป็นความฝันเลย คือเราเป็นเด็กคนหนึ่งที่ฝันอยากมีธงชาติไทยติดเสื้อ แล้วได้ทำชื่อเสียงให้ประเทศ โครงการนี้เกิดจากการชักชวนของพี่ๆ ที่อยู่ในโครงการ JSTP ด้วยกัน มาทำโครงงานร่วมกัน รวม 4 คน แต่ละคนเก่งมากๆ เราเลยต้องพยายามทำทุกอย่างให้เต็มที่
หลังจากรู้ผลว่าได้เป็นตัวแทนประเทศนั้นเราดีใจมาก แต่หลังจากนั้นก็ต้องทำการบ้านเยอะมากๆ เช่นกัน ตอนไปที่ญี่ปุ่น มีอุปสรรคปัญหาที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เราต้องคิดวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งมันยากมากๆ แต่ก็ดีใจที่ผ่านมาได้
นอกจากจะได้ไปทำโครงงานแล้ว การได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนที่ต่างประเทศก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ดีใจที่ได้ทำ รวมถึงการได้เที่ยวในญี่ปุ่นด้วย สนุกมากๆ ครับ”
เคล็ดลับความสำเร็จ ทำยังไงให้เรียนได้คะแนนดี?:
“ส่วนตัวแล้วเป็นขี้เกียจมากๆ ครับ ล้มลุกคลุกคลานมาก็เยอะ แต่สิ่งหนึ่งที่ค้นพบได้หลังจากเรียนมาหลายปี คือ “การตั้งใจเรียนในห้อง”
มันคือเรื่องจริงมากๆ ถ้าเราเริ่มต้นจากการตั้งใจเรียนในห้องเรียนให้ดี เราจะไม่เหนื่อยเลยตอนใกล้สอบ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนในระดับไหนก็ตาม แต่หากวิชาไหนมันไม่ไหวจริงๆ เรียนในห้องไม่รู้เรื่อง เราจะรวมกลุ่มกับเพื่อนอ่านหนังสือด้วยกันแล้วแชร์ความรู้กัน
สำหรับวิชาท่องจำ เราจะอ่านทำความเข้าใจ แล้วจดสรุปลงในกระดาษซ้ำๆ ให้จำได้ ส่วนวิชาคำนวณจะหมั่นทำโจทย์ ทำความเข้าใจลักษณะโจทย์ และขั้นตอนการทำ สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่า จะช่วยให้การเรียนของเรามีประสิทธิภาพเมื่อเรามีความพยายาม”
เล่ามุมมองที่มีต่อวิชาชีพวิศวกร:
“ส่วนตัวผมมองว่าทุกอาชีพมีเกียรติ มีความสำคัญหมดนะครับ แต่สำหรับอาชีพวิศวกร ตัวผมเองมองว่ามันเป็นอาชีพที่เท่มากสำหรับผู้ชาย หรือแม้กระทั่งผู้หญิง ซึ่งเลือกมาเรียนวิศวะเนี่ย ยิ่งเท่มาก
โดยปกติคนภายนอกจะมองอาชีพวิศวกรเป็นภาพคนสร้างตึก ก่อปูน ทำถนน อะไรแบบนี้ แต่ความเป็นจริงนั้น มันแยกย่อยไปเยอะมากๆ มีทั้งวิศวกรคอมพิวเตอร์ที่เขียนโปรแกรมต่างๆ เขียนแอพลิเคชัน รวมไปถึงสร้างหุนยนต์ต่างๆ
หรือแม้กระทั่งสาขาที่อั้มเรียนอยู่คือวิศวกรรมไฟฟ้า คนทั่วไปจะเข้าใจว่าเรียนเกี่ยวกับไฟฟ้า เดินสายไฟในบ้าน เสาไฟฟ้า อะไรแบบนี้ แต่ความจริงแล้วเราเรียนเกี่ยวกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้วย พวกชิป ที่ควบคุมการทำงานในโทรศัพท์ ในรถยนต์ ต่างๆ รวมถึงเทคโนโลยีในปัจจุบันที่ฮิตกันคือ Iot (Internet of Things) ซึ่งมันเจ๋งมากๆ ”
มุมมองจากเด็กวิศวะ ที่คนภายนอกอาจคิดไม่ถึง:
“คนภายนอกอาจจะคิดว่าเด็กวิศวะ เถื่อน โหด แต่จริงๆ แล้วพวกเรานั้นน่ารัก คุยด้วยสนุก
บางคนอาจติดภาพวิศวะดื่มเหล้าหนัก ออกไปร้านเหล้าเก่ง ซึ่งบอกเลยว่ามันคือเรื่องที่……จริง ครับผม 55555 แต่ไม่กับทุกคนนะ บางคนก็ดื่มไม่เป็น หรือไม่ดื่มเลยก็มี
หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นวิศวะต้องซ่อมเป็นทุกอย่างสิ ซึ่งบอกเลยว่าไม่จริง วิศวะคอมไม่ได้ลงวินโดว์เป็นทุกคน วิศวะไฟฟ้าไม่ใช่ทุกคนที่ซ่อมคอมเป็น หรือซ่อมทีวีเป็น แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคนด้วยครับ”
ฝากถึงน้องๆ ที่อ่านมาถึงตรงนี้ และอาจจะมีความฝันแบบที่เรามี:
“อยากฝากน้องๆ ที่อยากเข้าเรียนในคณะวิศวกรรมศาสตร์ ว่าการเรียนในสาขาวิศวกรรมศาสตร์นั้นเรียนยากมากๆ นะ อยากให้ชอบจริงๆ ถึงเข้ามาเรียน สิ่งไหนที่เราชอบ เราจะอยู่กับมันได้นาน และประสบความสำเร็จกับสิ่งนั้น : )”
สำหรับคนที่อยากได้โอกาสในโครงการที่เราเคยได้รับมาบ้าง:
“ลองถามตัวเองก่อนว่าชอบเรียนวิชาไหน วิชาอะไรเรียนได้ดี หากอยู่ในสายวิทย์ ก็คงได้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว ให้ลองศึกษาหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตดูว่าหัวข้อที่เราสนใจมีอะไรบ้าง สามารถต่อยอดอะไรได้อีกบ้าง
หากเจอแล้วก็พยายามศึกษาหาความรู้แล้วส่งสมัครโครงการดู โครงการนี้มีทั้งช่วงระดับ ม.ต้น และ ม.ปลาย จริงๆ คือ ขอแค่เรารู้ว่าเราชอบอะไร สนใจอะไร และพยายามต่อยอดกับมัน ทุกอย่างก็ไม่ยากเกินเอื้อมครับ”
ตั้งแต่ต้นจนจบบทสัมภาษณ์ หนุ่มคนนี้ได้แสดงให้เราเห็นแล้วว่า จุดเริ่มต้นของเป้าหมายที่เราอยากทำให้สำเร็จ อยู่ที่ความตั้งใจและการหาโอกาสให้ตัวเองได้ทดลองทำสิ่งใหม่ๆ หรือเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ ซึ่งคุณเองก็ทำได้เช่นกัน :)