เกือบหนึ่งร้อยปีที่โรงเรียนแห่งนี้ได้ผลิตศิษย์เก่าทรงคุณวุฒิมากมาย ทว่า น้อยคนนักจะรู้ว่า “โรงเรียนเผยอิง” มีชื่อเสียงมากแค่ไหน วันนี้ เราจะพาคุณไปรู้จักโรงเรียนเจ้าสัวแห่งนี้กัน
โรงเรียนเผยอิง ก่อตั้งขึ้นมาในปีพ.ศ. 2459 ช่วงรัชกาลที่ 6 ด้วยการระดมทุนจากพ่อค้าชาวจีนแต้จิ๋ว 5 คน คือ พระอนุวัติราชนิยม (เฮง เตชะวาณิช) เซียวเกียงลั้ง ตั้งเฮาะซ้ง โค้วปิ้ดจี๋ และกอฮุยเจียะ ใช้งบประมาณทั้งหมด 3 แสนบาท รวมระยะเวลา 4 ปีจึงสร้างโรงเรียนเสร็จสมบูรณ์
โรงเรียนเริ่มเปิดสอนครั้งแรกในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2463 เดิมใช้ชื่อว่า “ป้วยเอง” เป็นภาษาแต้จิ๋ว และสอนภาษาจีนแต้จิ๋วเต็มวัน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “เผยอิง” ซึ่งเป็นการอ่านออกเสียงในภาษาจีนกลาง แต่คงความหมายเดิม แปลว่า “การส่งเสริมพัฒนาความสามารถ”
โดยหลักสูตรในโรงเรียนนั้น จะเน้นไปที่การเรียนภาษาจีน สมกับวัตถุประสงค์ในการตั้งโรงเรียนสำหรับให้บุตรหลานชาวจีนได้เข้าศึกษา
การจะเข้าเรียนในโรงเรียนนี้ได้เรียกว่าไม่ง่ายเลย ตั้งแต่ค่าเทอม 3 บาท ซึ่งในสมัยนั้นเรียกได้ว่าเป็นเงินจำนวนมาก จึงมีแต่ลูกเศรษฐีที่สามารถเข้าเรียนได้ (แรกเริ่มให้เรียนฟรี แต่พอคนเข้าเรียนมากขึ้นจึงเก็บค่าเทอม) ทั้งยังรับสมัครแต่นักเรียนชาย (คาดว่ามาจากค่านิยม “ชายเป็นใหญ่” ที่รุ่งเรืองในสังคมจีน) ก่อนจะเปลี่ยนเป็นโรงเรียนสหศึกษาเช่นในปัจจุบันนี้
อีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่ได้รับความสนใจนอกจากหลักสูตรการเรียนการสอน คือการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ดูภายนอกอาจทำให้คนทั่วไปคิดว่าเป็นโรงเรียนคอนแวนต์ เนื่องจากใช้สถาปัตยกรรมแบบตะวันตกแทบทั้งหมด
แม้ในช่วงสมัยปีพ.ศ. 2482 ทางโรงเรียนจะถูกสั่งปิดเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับชาวจีน (ซึ่งในสมัยนั้น โรงเรียนจีนถูกสั่งปิดกันเป็นแถว จึงเป็นที่มาของคำว่า “เรียบร้อยโรงเรียนจีน”) ทว่าในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงเรียนเผยอิงก็ได้กลับมาเปิดสอนอีกครั้ง โดยเริ่มหลักสูตรสอนภาษาจีนควบคู่ไปกับหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการนับแต่นั้นมา
ปัจจุบัน โรงเรียนเผยอิงใช้หลักสูตรของกระทรวงฯเต็มรูปแบบ สอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงป.6 โดยสอนภาษาจีนเป็นภาษาต่างประเทศ สัปดาห์ละ 6 – 8 ชั่วโมงตามระเบียบของกระทรวงฯ
ที่นี่มีเด็กๆ ประมาณ 500 คน ที่ได้รับการสอนภาษาจีนอย่างเข้มข้น ทั้งจากสื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัย และคุณครูชาวจีนจนสามารถอ่าน เขียน และออกเสียงภาษาจีนจนคล้ายกับเจ้าของภาษา
ศิษย์เก่าที่สร้างชื่อเสียงของโรงเรียนแห่งนี้มีตั้งแต่ “เจ้าสัวหมื่นล้าน” เจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าพ่อเครื่องดื่ม ตราช้างและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ “อากู๋” ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม เจ้าพ่อแกรมมี่ และ ประสิทธิ์ โฆวิไลกุล นักกฎหมายมือระดับรมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ และนักธุรกิจรุ่นเก่าอีกมากมายก่ายกอง อาทิ…เจ้าสัว เทียม โชควัฒนา, วัลลภ เจียรวนนท์, สม จาตุศรีพิทักษ์, สมคิด จาตุศรีพิทักษ์, ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ฯลฯ
เรียกได้ว่าศิษย์เก่าแต่ละคนมีทั้งชื่อเสียง ความสามารถ และศักยภาพเต็มขั้น สมกับที่โรงเรียนเผยอิงได้รับฉายาว่า “โรงเรียนเจ้าสัว” แห่งประเทศไทยเลยทีเดียว
ที่มา: peiingschool,unlockmen,thairath