แม้ทุกวันนี้โลกของเราจะมีเงินทุนรวมถึงเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ แต่ในอีกหลายพื้นที่ของโลกยังเต็มไปด้วยผู้คนที่ขาดแคลน โดยเฉพาะโอกาสในการศึกษา สิ่งที่น่าตกใจก็คือ จากสถิติของ Unicef มีเด็กมากถึง 10.5 ล้านคนที่ขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษา
ไนจีเรียเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดของแอฟริกา เมื่อไม่นานมานี้มันถูกยกให้เป็นเมืองหลวงแห่งความยากจนที่สุดในโลก ตามการรายงานของ AFRInvest ในเดือนมีนาคม 2019
Balikis Muritala คือหญิงสาวที่อาศัยอยู่ในเมือง Ajegunle ทำอาชีพขายมันเทศและมันทอดเลี้ยงชีพ ซึ่งรายได้ของเธอนั้นได้น้อยกว่า 2 ดอลลาร์ในแต่ละวัน (ราว 60 บาท) เมื่อเทียบกับค่าเทอม 22 ดอลลาร์ (ประมาณ 680 บาท) ต่อเทอม (3 เดือน) จึงไม่น่าแปลกใจที่เธอไม่มีเงินมากพอที่จะเรียนหนังสือ รวมถึงส่งให้ลูกหลานของเธอได้เรียนด้วย
นอกจากปัญหาพลเมืองมีอัตราการไม่รู้หนังสือมากจนน่าตกใจ Lagos ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศยังได้รับผลกระทบที่รุนเเรงจากปัญหาขยะและมลภาวะ
ตามรายงานของ Vanguard ซึ่งได้เผยสถิติของรัฐบาลที่แสดงให้เห็นว่า ชาวเมืองทิ้งขยะพลาสติกมากถึง 450,000 เมกะตันลงในมหาสมุทรทุกปี ซึ่งไม่เพียงแค่ส่งผลต่อพวกเขา แต่ยังทำให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม
ในปีที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติได้เรียกร้องให้มีการจัดการขยะพลาสติกอย่างถูกต้องหลังจากมีรายงานว่าขยะพลาสติกกว่า 8 ล้านตันถูกทิ้งลงในมหาสมุทรเป็นประจำทุกปี เห็นได้ชัดว่าประเทศนี้กำลังเผชิญปัญหาที่ท้าทายและต้องเร่งแก้ไข ทั้งในด้านพลเมืองและสิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลกับผู้คนในชุมชนอีกนาน
ดังนั้น โรงเรียน Morit International ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนในเมือง Ajegunle จึงพบวิธีแก้ไขปัญหาทั้งสอง หลังจากร่วมมือกับ CLEANUP Initiative (ACI) ของแอฟริกา
สิ่งที่พวกเขาคิดคือ การริเริ่มช่วยผู้ปกครองที่ไม่สามารถจ่ายค่าเรียนให้กับลูกหลานได้ ด้วยการให้พวกเขาจ่ายเป็นขวดพลาสติก ที่จะเก็บรวบรวมผ่านโปรแกรมที่เรียกว่าผลิตภัณฑ์เพื่อการศึกษา RecyclesPay
RecyclesPay ก่อตั้งขึ้นโดย ACI เพื่อให้บริการแก้ไขปัญหาเพื่อการศึกษา ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศทั่วโลก Alex Akhigbe ผู้อำนวยการบริหารของ ACI กล่าวว่า นี่เป็นหนึ่งในวิธีการตอบแทนชุมชน
Muritala กล่าวว่า ในตอนแรกเธอรู้สึกอาย เมื่อนึกถึงการหยิบขวดขึ้นจากถนนหรือบริเวณใกล้เคียงเพื่อนำมันไปแลกกับการศึกษาของลูกๆ แต่ตอนนี้ เธอเห็นคุณค่าของขวดแต่ละใบ ซึ่งไม่เพียงจะช่วยจ่ายเป้นค่าธรรมเนียมการศึกษาให้กับลูกๆ แต่ยังช่วยลดปัญหาพลาสติกให้กับชุมชนของเธอได้ด้วย
“แนวคิดขวด PET นี้ช่วยลดภาระให้กับครอบครัวของฉันมากจริงๆ ตอนนี้เราไม่ต้องกังวลเรื่องเรียนของลูกๆ แล้ว ทำให้สามารถใช้กำไรเล็กน้อยจากการขายของเป็นค่าอาหารและดูแลบ้านได้”
Hajia Ajara Mohammed ผู้ปกครองอีกคนหนึ่งเล่าว่าการริเริ่มโครงการขวด PET ช่วยให้เธอลดค่าใช้จ่ายในโรงเรียนของเด็กๆ
“เรารู้สึกขอบคุณโรงเรียนที่ให้ความช่วยเหลือนี้ โดยเฉพาะครอบครัวที่มีเด็กมากกว่าสองคน”
ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังกล่าวด้วยว่า พวกเขาเริ่มเก็บขวดพลาสติกที่ทิ้งเกลื่อนอยู่รอบๆ พื้นที่ เพื่อใช้มันช่วยลดค่าใช้จ่ายในด้านการศึกษา
“เราเลือกเก็บขวดจากข้างถนน รวบรวมจากเพื่อนบ้านของเราและช่วยให้เด็กๆ ได้ไปโรงเรียน บางครั้งลูกๆ ของฉันก็ช่วยด้วย ครอบครัวของฉันเริ่มมีนิสัยเก็บขวด PET หลังจากเราทำความเข้าใจถึงความสำคัญของมัน”
Patrick Mbamarah ผู้อำนวยการโรงเรียน Morit International อธิบายว่า ขณะนี้โครงการริเริ่มดูเหมือนจะช่วยลดอัตราเด็กที่ไม่ได้ไปโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเขายังกล่าวด้วยว่า เขาต้องการให้แน่ใจว่าเด็กๆ ทุกจะได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง
เขาเสริมด้วยว่า การรับรู้นี้นำไปสู่การจัดการความรู้และสร้างความตระหนักให้กับผู้ปกครองและสมาคมครู รวมถึงทำให้ทางโรงเรียนมีส่วนร่วมกับความคิดริเริ่มขยะรีไซเคิลในการแลกเปลี่ยนค่าเล่าเรียนกับ African Clean Initiative (ACI)
ในส่วนของขยะพลาสติกที่เก็บรวบรวมได้นั้น จะถูกนำไปรีไซเคิลให้สร้างประโยชน์กับชุมชนต่อไป และโครงการเล็กๆ แต่สามารถเปลี่ยนโลกได้นี้ น่าจะถูกต่อยอดได้อีกมากมายในอนาคต
ที่มา: businessinsider