วันนี้ ScholarShip.in.th ก็มีเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับการเรียนต่อต่างประเทศมาฝากกันอีกแล้ว เพื่อนๆ เคยสงสัยมั้ยล่ะว่าถ้าไปสมัครเข้าเรียน คำถามสัมภาษณ์ของมหาวิทยาลัยระดับโลกนั้น จะเป็นอย่างไรกันหนออออ
ทางเราก็ได้ไปเจอบทความดีๆ จากทาง มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด มาฝากกัน โดยเป็นการเปิดเผยตัวอย่างคำถามการสอบสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกนักศึกษาเข้าเรียนในปีการศึกษา 2559 นี้
ทาง ดร.ซามินา ข่าน ผู้อำนวยการด้านการศึกษาของมหาวิทยาลัย บอกว่าเป้าหมายของการเปิดเผยตัวอย่างคำถามครั้งนี้ก็เพื่อขจัดข่าวลือผิดๆ เกี่ยวกับกระบวนการสอบสัมภาษณ์ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้นั่นเอง
ในการสอบสัมภาษณ์นั้น อาจารย์ผู้สัมภาษณ์ต้องการดูวิธีการคิดและการตอบสนองต่อแนวความคิดใหม่ๆของผู้สมัคร โดยเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สมัครได้นำความรู้ที่มีอยู่มาปรับใช้ในการแก้ปัญหาท้าทายใหม่ๆ
ซึ่งแนวทางนี้ เป็นการสนทนาทางวิชาการรูปแบบเดียวกับการเรียนของนักศึกษาระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดในปัจจุบัน ดังนั้นจึงเป็นการดีที่สุดที่ผู้สมัครจะฟังคำถามอย่างตั้งใจ แล้วเริ่มตอบจากตรงนั้น ดีกว่ามัวแต่คาดเดาความหมายแอบแฝงในคำถาม หรือตอบคำถามอย่างซับซ้อนเกินไป
สำหรับตัวอย่างคำถามในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ เช่น “วางไม้บรรทัดความยาว 30 ซม.ไว้บนนิ้วมือหนึ่งของมือทั้งสองข้าง จากนั้นจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อขยับนิ้วมือทั้งสองข้างเข้าหากัน” ศ.สตีฟ คอลลินส์ อาจารย์วิชาวิศวกรรม บอกว่า คำถามนี้ เป็นการทดสอบว่าผู้สมัครจะมีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อได้ผลการทดลองที่คาดไม่ถึง
เพราะคนส่วนใหญ่มักคิดว่าไม้บรรทัดจะหล่นลงเมื่อนิ้วมือข้างหนึ่งขยับเข้าใกล้จุดกึ่งกลางของไม้บรรทัดก่อน แต่ในความจริงแล้ว นิ้วมือทั้งสองข้างจะเคลื่อนไปยังจุดกึ่งกลางของไม้บรรทัดพร้อมกัน และไม้บรรทัดก็ยังตั้งอยู่บนนิ้วทั้งสองได้อย่างสมดุล ซึ่งผู้สมัครควรอธิบายได้ว่าเหตุใดนิ้วมือทั้งสองข้างจึงเคลื่อนไปยังจุดกึ่งกลางพร้อมกัน ซึ่งอาจใช้หลักการเรื่องแรงเสียดทานสถิตและแรงเสียดทานจลน์มาอธิบาย
ส่วนตัวอย่างคำถามของสาขาวิชาบูรพคดีศึกษา คือ “โบราณคดีสามารถพิสูจน์หรือหักล้างคัมภีร์ไบเบิลได้หรือไม่” ดร.อลิสัน ซัลว์เซ่น บอกว่า อาจารย์ผู้สัมภาษณ์จะมองหาคำตอบที่แสดงทัศนะว่า ไบเบิลเป็นเอกสารอย่างหนึ่งที่ส่งผ่านกันมาหลายศตวรรษ ซึ่งเราสามารถจะตั้งคำถามและวิเคราะห์ได้ว่า เอกสารเหล่านี้เขียนขึ้นด้วยเหตุผลใดและในบริบททางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแบบใด
ส่วนการศึกษาโบราณคดีพึ่งพาแหล่งข้อมูลที่ไม่ใช่ภาษาเขียน แต่เป็นวัตถุจากยุคโบราณ ซึ่งหลักฐานทางโบราณคดีอาจให้ข้อมูลที่สนับสนุนหรือขัดแย้งกับไบเบิลก็ได้ แต่การโต้แย้งด้วยการอ้างเหตุผลแต่เพียงว่า “ไบเบิลกล่าวว่า” หรือ “โบราณคดีพิสูจน์ว่า” นั้นง่ายเกินไป
ตัวอย่างคำถามในสาขาเศรษฐศาสตร์และการจัดการ คือ “นายธนาคารสมควรได้รับเงินเดือนสูงหรือไม่ หรือรัฐบาลควรจำกัดเงินเดือนของพวกเขา” โดย ศ.ไบรอัน เบลล์ กล่าวว่า ผู้สมัครที่ดีควรตั้งคำถามว่า เหตุใดนายธนาคารจึงได้เงินเดือนมากกว่าคนอาชีพอื่นที่ดูเหมือนจะมีพรสวรรค์ในระดับเดียวกัน และควรจะคิดหาเหตุผลในเรื่องนี้ด้วยกระบวนการคิดเชิงเศรษฐศาสตร์ เช่นกลไกตลาดมีผลต่อการให้เงินเดือนในอาชีพต่างๆอย่างไร มากกว่าจะคิดในเชิงจริยธรรมว่ามันเป็นเรื่องที่ยุติธรรมหรือไม่
และสุดท้ายตัวอย่างคำถามในสาขาชีวการแพทย์ คือ “เหตุใดน้ำตาลในปัสสาวะจึงเป็นตัวบ่งชี้ที่ดีว่าคุณอาจป่วยเป็นโรคเบาหวาน” ศ.โรเบิร์ต วิลกินส์ ระบุว่า คำถามนี้มาจากความรู้ทั่วไปในการศึกษาชีววิทยาและเคมีในโรงเรียน เพื่อประเมินว่านักเรียนจะสามารถตอบปัญหาทางการแพทย์ ด้วยการเชื่อมโยงความรู้เก่าหลายๆเรื่องเข้าด้วยกันได้หรือไม่
ดังนั้นผู้สมัครจึงควรสามารถเชื่อมโยงความรู้เรื่องการทำงานของไตในการกรองสารต่างๆในเลือด เข้ากับความรู้เรื่องกระบวนการควบคุมระดับน้ำตาลกลูโคสในร่างกายได้ โดยเมื่อผู้ป่วยเบาหวานมีน้ำตาลในเลือดสูง ไตจึงต้องกรองและดูดกลับน้ำตาลมากตามไปด้วย ซึ่งเมื่อโปรตีนในไตดูดน้ำตาลกลับเข้ากระแสเลือดไม่ไหวและเกิดการอิ่มตัว จึงทำให้มีภาวะน้ำตาลล้นออกมาในปัสสาวะได้
รู้สึกยังไงกันบ้างครับเพื่อนๆ คำถามสัมภาษณ์เข้าเรียนจากทางมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด หนึ่งในมหาวิทยาลัยระดับแนวหน้าของโลก น่าสนใจแนวคิดของเขาเลยทีเดียว ไว้ถ้าเราเจอเรื่องราวดีๆ แบบนี้จะนำมาฝากเพื่อนๆ กันใหม่นะจ๊ะ ^^
ที่มา: BBC