สถานการณ์ที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤต โควิด 19 กำลังบอกอะไรเกี่ยวกับมนุษย์และสังคม? ความรู้ทางมานุษยวิทยาจะมีส่วนในการช่วยรับมือกับโรคระบาดอย่างไร? เราเรียนรู้อะไรจากภัยคุกคามและความเสี่ยงในศตวรรษที่ 21? มานุษยวิทยาจะมีบทบาทอย่างไรในการช่วยเสนอทางออกจากวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้?
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จึงเปิดให้ทุนสนับสนุนการเขียนบทความวิจัย (Research paper) ภายใต้ “โครงการมานุษยวิทยาในสถานการณ์โรคระบาด” ในหัวข้อต่างๆ ที่กำหนดให้ โดยมีรายละเอียดดังนี้
มูลค่าทุนการศึกษา:
ทุนวิจัยจำนวน 20 ทุน ทุนละ 20,000 บาท
คุณสมบัติผู้สมัคร:
นักวิชาการ นักวิจัย หรือนักศึกษาทางด้านมานุษยวิทยา หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง
หัวข้องานวิจัย:
กลุ่มที่ 1 ประสบการณ์ อารมณ์และความรู้สึกในสถานการณ์โรคระบาด
– ทุกข์ทางสังคม (Social suffering) ประสบการณ์การเจ็บป่วย (Illness experience) ความหมายและมุมมองต่อโรคโควิด 19
– ชีวิตทางสังคมและอารมณ์ของมนุษย์ในสถานการณ์โรคระบาด: ความกลัว ความรัก ความเหงา และความหวัง ฯลฯ
– การดูแล (Care, Caring and Care-giving) ภารกิจทางมนุษยธรรม (Humanitarian effort) และประสบการณ์ทางจริยธรรม (Moral experience) ในสถานการณ์โรคระบาด
กลุ่มที่ 2 บทเรียนของวิธีจัดการและแก้ไขปัญหาโรคระบาด
– การศึกษาเปรียบเทียบการรับมือของประเทศต่างๆ ในบริบททางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เศรษฐกิจและการเมือง
– กาลเทศะ ความเสี่ยง และมิติทางวัฒนธรรมของโรคอุบัติใหม่
– มองแบบรัฐ: รัฐเวชกรรม ภาวะผู้นำและปฏิบัติการของอำนาจในสถานการณ์เปราะบาง
– ชุมชน การตอบโต้ ต่อรอง และการกลายเป็นปัญหาท้องถิ่นของโรคในกระแสโลกาภิวัตน์
– ประสบการณ์และปฏิบัติการเชิงพื้นที่: การเดินทาง เส้นแบ่งและเขตแดนกับการควบคุมกักกันโรค
กลุ่มที่ 3 การแบ่งแยกกีดกัน ความเสี่ยงและการปรับตัวทางสังคม
– ความเหลื่อมล้ำและความสัมพันธ์เชิงอำนาจ: กลุ่มเปราะบาง ชนชั้น เชื้อชาติและเพศสภาวะในสถานการณ์โรคอุบัติใหม่
– สังคมเสี่ยงภัย: กลุ่มเสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยงและสถานการณ์เสี่ยงกับการปรับตัวและการเอาตัวรอดในการเผชิญหน้ากับความเสี่ยง
– การเกิดใหม่ของความเป็นสังคม (Sociality) ความเป็นพลเมือง (Citizenship) และการเคลื่อนไหวทางสังคมใหม่ (New social movement) กับการรับมือโรคระบาด
กลุ่มที่ 4 เทคโนโลยี พิธีกรรมและความคิดสร้างสรรค์ในสถานการณ์โรคระบาด
– ศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยี: การรับมือกับสถานการณ์วิกฤต
– อินเทอร์เน็ต เทคโนโลยีดิจิทัล สื่อสังคมกับโรคระบาด
– ศาสนา พิธีกรรม การผลิตซ้ำและการสร้างใหม่ทางวัฒนธรรมความเชื่อเกี่ยวกับโรคระบาด
– กติกา มารยาทและสุนทรียศาสตร์ของการอยู่ร่วมกันและการอยู่กับโรค
กลุ่มที่ 5 ภววิทยา ปริมณฑลของความรู้และความจริง
– การเมืองเรื่องความรู้ ความจริง และการต่อสู้ช่วงชิงทางญาณวิทยา
– Visual culture and Epidemic ข้อมูลโรคระบาดกับการสร้างภาพตัวแทนและการสื่อสารผ่านภาพ
– การรายงานข่าว ข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวปล่อย และปฏิกิริยาทางสังคมของสาธารณะ
– วัตถุ สิ่งของ หลากสายพันธุ์กับการเป็นผู้กระทำการของสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ (Materiality, Multi-species and Non-human actor) ในสถานการณ์โรคระบาด
รูปแบบผลงาน:
บทความวิจัย (Research paper) ขนาดสั้น ที่ได้จากการวิจัยจากเอกสาร งานวิจัยภาคสนามและประสบการณ์ส่วนตัว การสัมภาษณ์ การสำรวจสื่อออนไลน์ เป็นต้น ความยาวไม่ต่ำกว่า 15 หน้า (A 4 ไม่รวมบรรณานุกรม) Font TH SarabunPSK 16
วิธีการสมัคร:
ดูรายละเอียดได้ ที่นี่
ปิดรับสมัคร:
20 เมษายน 2563 (ภายในเวลา 16.00 น.)