ผู้ใหญ่บางท่านอาจมองว่าการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร แต่สำหรับตัวเรียนมันคือบาดแผลอันเจ็บปวด แม้เวลาจะสามารถเยียวยาได้แต่รอยแผลเป็นก็ยากที่จะเลือนหายอย่างหมดจด
ในสังคมโรงเรียนของประเทศต่างๆ ทั่วโลกล้วนมีปัญหาการบูลลี่ของเด็กๆ เหมือนกันแทบทุกที่ ขึ้นอยู่ที่ว่าจะหนักหนาสาหัสมากแค่ไหน สำหรับประเทศญี่ปุ่นเองปัญหาการแกล้งกันในโรงเรียนถือเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก แม้เมื่อปี 2013 ที่ผ่านมาได้มีการประกาศใช้กฎหมายเพื่อป้องกันการกลั่นแกล้ง แต่ก็ดูเหมือนยังไม่คลี่คลาย ตรงกันข้ามสถิติกลับเพิ่มสูงขึ้น
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2018 รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่นรายงานผลสถิติการกลั่นแกล้งในโรงเรียนเมื่อปี 2017 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากปีก่อนหน้านี้
โดยโรงเรียนประถม มัธยมต้น และมัธยมปลาย ทั้งจากในส่วนรัฐบาลและเอกชน รวมไปถึงโรงเรียนที่มีการสอนพิเศษ มีการรายงานกรณีการบูลลี่รวมแล้ว 414,378 กรณี เพิ่มขึ้น 91,235 กรณีจากปีก่อนหน้านี้ ตามการสำรวจของกระทรงศึกษาฯ
สำหรับตัวเลขนักเรียนบาดเจ็บทางร่างกายและจิตใจเพิ่มขึ้นจากเดิม 78 กรณีเป็น 474 กรณี และมีนักเรียน 10 คนจาก 250 คนที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายจากปัญหาการถูกกลั่นแกล้ง
โดยโรงเรียนประถมมีการแกล้งกันมากที่สุด 317,121 กรณี เพิ่มขึ้น 79,865 กรณีจากปีที่แล้ว อันดับ 2 คือ โรงเรียนมัธยมต้น มี 80,424 กรณี เพิ่มขึ้น 9,115 กรณี อันดับที่ 3 คือ โรงเรียนมัธยมปลายมีการแกล้งกัน 14,789 กรณี เพิ่มขึ้น 1,915 กรณี
ส่วนในโรงเรียนการศึกษาพิเศษ สำหรับนักเรียนที่มีปัญหาด้านการเรียนก็มีการกลั่นแกล้งจำนวน 2,044 กรณี เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 340 กรณี
ซึ่งผลกระทบนี้ทำให้มีนักเรียนได้รับบาดเจ็บ ทั้งกระดูกหัก ถูกพักการเรียน กรณีที่ร้ายแรงสุดๆ คือเมื่อปีที่ผ่านมามีนักเรียนหญิงเสียชีวิตจากการตกลงมาจากอาคารของโรงเรียนม.ต้น พ่อแม่ของเด็กหญิงกล่าวว่าเธอฆ่าตัวตาย ซึ่งภายหลังการตรวจสอบพบว่าเธอถูกกลั่นแกล้งจริง
อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงศึกษาฯ ยังพยายามที่จะแก้ปัญหานี้ต่อไป เพื่อลดผลกระทบรุนแรงที่เกิดขึ้น
ที่มา: kyodonews