วันนี้ ScholarShip.in.th ก็ได้ไปเจอบทความบทความหนึ่งของทาง Hfocus มา ซึ่งน่าสนใจเลยทีเดียวล่ะ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ทางการแพทย์ของไทยเรานั่นเอง
ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวกับเรื่องราวของศัลยแพทย์ ตั้งแต่ในสมัยอยุธยาแล้วล่ะ ซึ่งหลายๆ คนอาจจะเคยได้ไปเห็นบันทึกเกี่ยวกับการผ่าตัดครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 กันซะส่วนมาก แต่ที่จริงเรื่องราวของการศัลยกรรมปรากฏมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้วล่ะ ถึงแม้จะไม่ได้ปรากฏในวงการแพทย์แผนไทยสมัยนั้นก็ตาม…
ซิมอง เดอ ลาลูแบร์ (Simon de La Loubere) เอกอัครราชทูตแห่งราชสำนักของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้เดินทางมาในสมัยอยุธยา ในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้บันทึกเรื่องที่เกี่ยวกับการแพทย์ของสยามในเวลานั้นไว้ ว่าค่อนข้างด้อยกว่าตะวันตกมาก เพราะแพทย์ไม่ค่อยมีความรู้ที่เฉพาะ และมักจะเชื่อถือโชคลางและไสยศาสตร์ซะส่วนมาก
ก่อนหน้าการบันทึกของลาลูแบร์นั้น มีเหตุการณ์ที่มีการบันทึกถึงการศัลยกรรมของชาวตะวันตกเอาไว้ในสมัยเดียวกันซึ่งอาจเป็นการผ่าตัดครั้งแรกในอยุธยาหรืออาจจะเป็นครั้งแรกในดินแดนสยามประเทศเลยก็ว่าได้ เมื่อ โกลด เดอ ฟอร์แบ็ง (Claude de Forbin) ผู้รับราชการในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองบางกอก ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นตอนที่เขาปราบกบฏแขกมักกะสันในกรุงศรีอยุธยา
โดยพวกกบฏได้ล่องเรือหลบหนีการจับกุมลงมาตามแม่น้ำ แต่ถูกสกัดไว้ที่เมืองบางกอก ในการรบ ทหารและประชาชนสยามถูกกบฏฆ่าตายเป็นอันมาก ในจำนวนนั้นมีทหารฝรั่งเศส ชื่อ โบเรอะคาร์ท ถูกแทงที่ท้องลำไส้ทะลักออกมา ฟอร์บังจึงใช้ไหมมาสนเข็มสองเล่ม ยกไส้และกระเพาะอาหารเข้าไปที่เดิมในท้อง แล้วเย็บแผล และขมวดให้ติดกัน เอาไข่ขาวตีแล้วเอาเหล้ารัค (Raque) มาผสมแล้วชะล้างคนเจ็บ ล้างแผลอยู่ราว ๑๐ วัน โบเรอะคาร์ท จึงพ้นขีดอันตรายและหายเป็นปกติ
และถึงแม้ว่าการแพทย์และวงการแพทย์ไทยสมัยนั้นจะยังไม่ก้าวหน้าเท่าไหร่ แต่บันทึกของลาลูแบร์ยังได้กล่าวถึงการที่ราชสำนักอยุธยา นำเอาศัลยแพทย์ชาวตะวันตกเข้าไปเป็นแพทย์ประจำพระองค์ด้วย โดยอ้างว่าแพทย์ผู้นั้นเป็นครูสอนคริสต์ศาสนาพร้อมกันด้วย และได้รับยศฐาบรรดาศักดิ์มากมายระหว่างที่รับราชการ
แม้จะมีความแตกต่างระหว่างกันของความรู้ทางการแพทย์ของตะวันตกกับการแพทย์ไทยในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 16 แต่การเข้ามาของแพทย์และความรู้ของการแพทย์ตะวันตกในสมัยนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบมากมายต่อระบบการแพทย์ไทยแต่เดิม เนื่องจากในสมัยนั้นความรู้และประสิทธิภาพของทั้งสองระบบการแพทย์ไม่ได้มีความแตกต่างกันเท่าไหร่นัก จึงทำให้สามารถอยู่ควบคู่กันไปได้
จนสุดท้ายก็มาถึงการเข้ามาระลอกใหม่ของการแพทย์ตะวันตกสมัยใหม่ที่ใช้ความรู้แบบวิทยาศาสตร์เป็นฐานในช่วงคริสต์สตวรรษที่ 19 และ 20 กลับส่งผลกระทบอย่างมากมายต่อการแพทย์ไทยแบบเดิมจนทำให้เกิดผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมายมาจนถึงทุกวันนี้เลยล่ะ
ที่มา: Hfocus , นภนาท อนุพงศ์พัฒน์ หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย