ภาพของสะพานไม้ที่ดูเหมือนถูกตัดแต่งด้วย CG นี้ เกิดขึ้นในดินแดนแถบรัฐเมฆาลัย ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย
ในช่วงฤดูมรสุม น้ำฝนปริมาณมากจะเพิ่มความสูงของแม่น้ำทำให้บริเวณที่อยู่ระหว่างรัฐอัสสัมและบังกลาเทศแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีความชุ่มชื้นมากที่สุดในโลก
แต่สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเป็นปัญหากับชนเผ่า Khasi ผู้เรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติมานับแต่โบราณ
หมู่บ้าน Mawlynnong บนหุบเขาที่ชนเผ่า Khasi ตั้งรกรากอยู่นั้น ได้คิดค้นการทำสะพานที่เฉียบแหลมเพื่อเชื่อมต่อหมู่บ้านอันกระจัดกระจายเข้าด้วยกันด้วยวิธีที่เรียกว่า “jing kieng jri” หรือ สะพานต้นไม้
จุดกำเนิดของสะพานต้นไม้เหล่านี้ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเริ่มมาจากไหน แต่มีการพบบันทึกที่สามารถคาดได้ว่าเริ่มสร้างกันมาตั้งแต่หลายร้อยปีก่อน
พวกเขาสร้างสะพานด้วนการเริ่มปลูกต้นยางอินเดีย (Ficus Elastica) ที่คนละฝั่งของแม่น้ำเพื่อสร้างรากฐานของสะพาน จากนั้นนำไม้ไผ่มาพาดระหว่างต้นไม้ทั้งสองต้น
เมื่อเวลาผ่านไป 15 – 30 ปี รากของต้นไม้จะเลื้อยพันเชื่อมต่อกันจนกลายเป็นสะพานในที่สุด ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ สะพานต้นไม้เหล่านี้ก็ยิ่งแข็งแรง
พวกเขาสร้างสะพานให้อยู่สูงเหนือเเม่น้ำตั้งแต่ระดับ 4.5 เมตร ไปจนถึง 76 เมตรเลยทีเดียว แถมยังสามารถรองรับน้ำหนักได้ถึง 35 คนในเวลาเดียวกันอีกด้วย
ต่างจากสะพานในปัจจุบันที่สร้างจากเหล็กและคอนกรีต สะพานต้นไม้เหล่านี้มีความยืดหยุ่นและรับกับสภาพมรสุมจากธรรมชาติได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะจากพายุหรือน้ำท่วม มันยังคงแข็งแรงและพร้อมใช้งานได้
สะพานต้นไม้ที่ใช้วิธีถ้อยทีถ้อยอาศัยกับธรรมชาติ ช่วยให้ หมู่บ้าน Mawlynnong รอดพ้นจากภัยพิบัติและสามารถใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขมาได้หลายร้อยปี
นอกจากนี้แล้ว ผู้คนในหมู่บ้านแห่งนี้ยังช่วยกันรักษาธรรมชาติด้วยการคิดระบบจัดเก็บขยะและรีไซเคิลจนได้ชื่อว่าเป็น “หมู่บ้านที่สะอาดที่สุดในอินเดีย”
ที่มา : nationalgeographic