ปัจจุบันเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า สามารถช่วยให้เด็กๆ ในยุคนี้เกิดการพัฒนาทักษะและความสามารถได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น ทั้งการเข้าถึงองค์ความรู้ที่ง่ายขึ้น ก็ทำให้เยาวชนสามารถค้นหาความถนัดได้เร็วขึ้นด้วย
เมื่อไม่นานมานี้ มีตัวเเทนเด็กไทยส่งไอเดียและการประดิษฐ์เข้าเวทีการแข่งขัน Google Science Fair และได้กลายเป็นหนึ่งในผู้เข้ารอบตัดสิน จากผลงานการสร้างโปรเเกรมเเละประดิษฐ์อุปกรณ์ช่วยทางการได้ยินเเละฝึกพูดให้กับผู้พิการทางการได้ยิน ทำให้สื่อต่างๆ ให้ความสนใจในตัวหนุ่มน้อยชั้น ม. 1 จากโรงเรียนชื่อดังในจังหวัดเชียงใหม่คนนี้อย่างมาก
เด็กชายเหมวิช วาฤทธิ์ หรือ น้องฮับ วัย 13 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนวารีเชียงใหม่อินเตอร์เนชั่นแนล คือหนุ่มน้อยที่เราได้กล่าวไปในข้างต้น ซึ่งด้วยวัย และความสามารถ จึงไม่น่าแปลกใจที่เขาจะกลายเป็นคนดังที่ผู้คนให้ความสนใจในความสามารถ
น้องเล่าว่า จากการรับรู้ปัญหาเกี่ยวกับอาการของผู้บกพร่องทางการได้ยิน ซึ่งเขาคิดว่าเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งในด้านสุขภาพ ปัจจุบัน มีผู้ที่เป็นโรคนี้กว่า 422 ล้านคนทั่วโลก ทำให้เขาเกิดแนวคิดที่อยากจะช่วยเหลือผู้พิการทางการได้ยิน เมื่อคุณครูบอกว่ามีการแข่งขัน Google Science Fair เขาจึงไม่ลังเลที่จะทำโครงงานนี้ขึ้นมาเพื่อส่งเข้าประกวด
ไอเดียแนวคิดสิ่งประดิษฐ์นี้เกิดจากครั้งหนึ่งน้องฮับเคยเล่นกีตาร์ แต่เนื่องจากไม่ได้ต่อกับเครื่องขยายเสียง ทำให้เสียงที่ได้ยินนั้นแผ่วเบา ทว่า เมื่อน้องเอาคางไปแตะที่ตัวกีตาร์ กลับได้ยินเสียงที่ชัดเจนขึ้น ทำให้เขาคิดว่า หลักการนี้อาจนำไปใช้ประดิษฐ์สิ่งที่จะช่วยผู้พิการทางหูได้ จึงเป็นต้นแบบแนวคิดของสิ่งประดิษฐ์ที่น่าภูมิใจนี้
โดยโครงงานของน้องนั้นได้ทำการทำสอบและพัฒนาภายใต้ความร่วมมือกับโรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร พร้อมกับเอาแนวทางการใช้กระบังลมจากการร้องเพลงมาช่วยฝึกให้ผู้พิการได้ทดลองเปล่งเสียง จากแนวคิดนี้ เมื่อผู้พิการได้ยินเสียงที่ดังขึ้น ก็จะทำให้พวกเขากล้าส่งเสียงพูดมากขึ้นด้วย
ในการแข่งขัน Google Science Fair มีเด็กไทยเพียง 2 คนเท่านั้นที่สามาระเข้าชิงชัยได้จนถึงรอบสุดท้าย และน้องฮับเองก็เป็นเด็กที่อายุน้อยที่สุดเท่าที่เคยมีในการแข่งขันนี้ อีกทั้งยังเป็นเด็กไทยคนแรกที่เข้ารอบ 20 คนสุดท้ายได้ ทำให้ผลงานของเขากลายเป็นที่จับตามองของคนมากมาย ในรอบตัดสินเดือนกรกฎาคมนี้
สุดท้ายแล้ว ทั้งน้องและคุณแม่ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีและโลกออนไลน์ได้เปิดเส้นทางของการเรียนรู้ให้กว้างขึ้น และยังมีเด็กไทยเก่งๆ ที่มีความคิดสร้างสรรค์อยู่อีกมาก หากมีองค์กรหรือสถาบันให้การสนับสนุน เด็กไทยอีกหลายคนก็จะสามารถเข้าร่วมในเวทีการประกวดรับโลกได้
ที่มา: workpointnews