ความตื่นเต้นของการฝึกงานมักมาพร้อมกับคำถาม และข้อสงสัยต่างๆ นานา หนึ่งในนั้นคงเป็นคำถามที่ว่าการฝึกงานทั่วไป กับการสหกิจศึกษามันแตกต่างกันอย่างไร??
สหกิจศึกษา เป็นการฝึกงานที่ทำให้นักศึกษาได้เป็นเหมือนพนักงานจริง (ชั่วคราว) ผสมผสานการเรียนเข้ากับการทำงานจริง โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษากับองค์กร และต่อไปนี้คือความแตกต่างระหว่างสหกิจศึกษา กับ การฝึกงาน
รูปแบบการสมัคร
สหกิจศึกษา – นักศึกษาต้องยื่นเรซูเม่ หรือ Portfolio โดยมีการสอบสัมภาษณ์เป็นขั้นตอนเหมือนการสมัครงานจริง ซึ่งการคัดเลือกจะขึ้นอยู่กับองค์กรนั้นๆ
การฝึกงาน – ส่วนมากไม่มีการยื่นใบสมัครหรือทำการสัมภาษณ์นักศึกษา โดยการพิจารณาจากหนังสือขอความอนุเคราะห์รับนักศึกษาฝึกงานจากสถาบันอุดมศึกษา
สถานะของนักศึกษาในองค์กร
สหกิจศึกษา – เป็นเสมือนพนักงานปฏิบัติงานชั่วคราวขององค์กร
การฝึกงาน – อยู่ในสถานะนักศึกษาฝึกงาน การปฏิบัติงานขึ้นอยู่กับบริษัท
คุณสมบัติของนักศึกษา
สหกิจศึกษา – ข้อกำหนดของแต่ละมหาวิทยาลัยอาจแตกต่างกันเล็กน้อย โดยทั่วไปเกรดเฉลี่ยที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนดจะต้องไม่ต่ำกว่า 2.00 และคุณสมบัติต่างๆ ต้องเป็นไปตามที่กำหนด
การฝึกงาน – โดยส่วนมากไม่ระบุเกรดเฉลี่ย สามารถหาที่ฝึกงานได้เลย แต่อาจขึ้นอยู่กับบางบริษัทที่ต้องการดูเกรดเฉลี่ยของนักศึกษาเพื่อประกอบการพิจารณา
ค่าตอบแทน
สหกิจศึกษา – ส่วนใหญ่จะได้รับค่าตอบแทนตามความเหมาะสมขององค์กร หรือมีสวัสดิการอื่นๆ เพิ่มเติม
การฝึกงาน – อาจได้รับค่าตอบแทนตามความเหมาะสม
ระยะเวลาการปฏิบัติงาน
สหกิจศึกษา – ทำงานเต็มเวลา โดยไม่น้อยกว่า 1 ภาคเรียน หรือ 16 สัปดาห์ หรืออาจมากกว่า 1 ภาคเรียน
การฝึกงาน – ฝึกงานในภาคการศึกษาฤดูร้อน มีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 200 ชั่วโมงทำการ หรือไม่น้อยกว่า 20 –25 วันทำการ
ลักษณะการทำงาน
สหกิจศึกษา – เน้นประสบการณ์ทำงานจริงเป็นหลักหรือ Work-base learning หรือโครงงานพิเศษ (Project) โดยใช้ความรู้ให้สอดคล้องกับสาขาที่เรียนมา
การฝึกงาน – มีอิสระในการฝึกงาน แต่บางครั้งงานที่ได้รับมอบหมายอาจไม่ตรงกับสาขาวิชาที่เรียน
การดูแลนักศึกษาระหว่างการปฏิบัติงาน
สหกิจศึกษา – ในองค์กรจะจัดให้มีหัวหน้างานหรือบุคลากรในการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา หรือพี่เลี้ยงให้กับนักศึษาตลอดระยะเวลาการฝึกงาน
การฝึกงาน – ในองค์กรจัดให้มีหัวหน้างานเพื่อดูแล และสอนงานนักศึกษา
การส่งผลการปฏิบัติงานของนักศึกษา
สหกิจศึกษา – จัดทำเป็นรายงาน 1 เล่มในหัวข้อและเนื้อหาที่บริษัทเป็นผู้กำหนด และอาจารย์ที่ปรึกษาในสาขาวิชานั้นๆ
การฝึกงาน – จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงาน
ที่มา: co-op.surat.psu.ac.th , เด็กฝึกงานดอทคอม