วันนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักกับ “ขาว” หรือนางสาววรรณดี ถวิลบุญ นิสิตคณะศึกษาศาสตร์ ชั้นปีที่ 5 มหาวิทยาลัยนเรศวร นิสิตคนเก่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “นักล่าทุนแลกเปลี่ยน” อีกหนึ่งคนที่มีความมุ่งมั่นพยายามจนได้โอกาสไปแลกเปลี่ยนต่างประเทศมาแล้วถึง 5 โครงการ ใน 4 ประเทศ
เรื่องราวของเธอจะน่าสนใจขนาดไหน เราไปติดตามกันเลย!
โครงการแลกเปลี่ยน 5 โครงการใน 4 ประเทศ
ขาวมีโอกาสไปแลกเปลี่ยนมาแล้ว 5 โครงการได้แก่
1. โครงการแลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรมที่ Imus Institute of Science and Technology
ณ เมือง Cavite ประเทศฟิลิปินส์ ซึ่งเป็นทุนของทางมหาวิทยาลัยนเรศวร และ Imus Institute ระยะเวลาโครงการรวม 2 เดือน (1 เดือน ที่ประเทศไทย และอีก 1 เดือนที่ประเทศฟิลิปินส์)
2. โครงการ JENESYS (Japan-East Asia Network of Exchange for Students and Youths)
ในหัวข้อ Peace Building ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้การสนับสนุน โดยระยะเวลาของการเข้าร่วมโครงการรวม 1 สัปดาห์
3. ทุนภายใต้โครงการศึกษาภาษา และวัฒนธรรมอินโดนีเซีย
ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอินโดนีเซีย ณ ประเทศอินโดนีเซีย เป็นเวลา 1 สัปดาห์
4. โครงการ Global Undergraduate Exchange Program (Global UGRAD)
ซึ่งเป็นทุนแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน เพื่อไปศึกษาในมหาวิทยาลัย ในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 1 ภาคการศึกษา ทุนนี้ได้รับการสนับสนุนจาก U.S. Department of State
5. ได้รับคัดเลือกเป็นผู้แทนเยาวชนไทยในการประชุมสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 73 (Thailand Youth Delegate to the United Nations)
ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 30 กันยายน 2561 – 19 ตุลาคม 2561 โดยได้รับการสนับสนุนโดยกระทรวงการต่างประเทศ
การเตรียมตัวสอบแข่งขันชิงทุนเพื่อไปแลกเปลี่ยน
ขาวได้เล่าให้พวกเราฟังว่า กว่าจะผ่านการสอบคัดเลือกแต่ละครั้งนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โครงการแลกเปลี่ยนแต่ละโครงการก็จะมีวัตถุประสงค์ของโครงการที่แตกต่างกัน สิ่งแรกที่เราควรจะทำคือ ศึกษาว่าวัตถุประสงค์ของโครงการเป็นอย่างไร ตรงกับความสนใจเราหรือไม่ มากน้อยเพียงใด
ซึ่งขาวเชื่อว่าถ้าเราได้เลือกสมัครโครงการที่เรามีความสนใจอยู่แล้ว มันจะมีแรงผลักดัน หรือ motivation ให้เราทำส่วนที่เหลือให้ดีที่สุด เพื่อที่จะได้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกเพื่อเข้าร่วมโครงการ
หลักจากการทำการศึกษาเกี่ยวกับโครงการแล้ว สิ่งที่เราต้องเตรียมตัวคือ การเขียน essay หรือการสอบสัมภาษณ์ โดยโครงการแลกเปลี่ยนส่วนใหญ่จะให้เราเขียน essay ตามหัวข้อที่กำหนดให้ เพื่อดูทัศนคติของเรา ซึ่งคำแนะนำของขาวในการเขียน essay คือ เราจะต้องถ่ายทอดความเป็นตัวเอง ให้กรรมการได้รู้จักตัวตนของเรา passion ของเราให้ได้มากที่สุด ถึงแม้จะเป็นการถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือก็ตาม
ขั้นต่อไปคือการ สอบสัมภาษณ์ ซึ่งถือเป็นด่านที่หินที่สุดสำหรับการสอบคัดเลือกทุนต่างๆ เพราะเราไม่รู้ว่าเราจะโดนถามอะไรบ้างในห้องสอบสัมภาษณ์ กรรมการจะใจดีหรือเปล่า แต่ขาวได้แนะนำว่ากุญแจสำคัญที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในการสอบสัมภาษณ์คือ การเตรียมตัวที่ดี (เตรียมตัวดี มีชัยไปกว่าครึ่ง)
ในการสอบสัมภาษณ์สิ่งแรกที่เราต้องให้ความสำคัญคือ การแต่งกาย และบุคลิกภาพ เพราะมันจะเป็นการสร้าง first impression ให้กับคณะกรรมการ และอาจจะมีการเตรียมแผ่นพับ หรือ portfolio เล็กๆ ในการนำเสนอตัวเรา ถึงกิจกรรมที่เราเคยทำ และความสนใจของเราค่ะ
และข้อแนะนำอื่นๆ สำหรับการสอบสัมภาษณ์คือ เตรียมความพร้อมเกี่ยวกับโครงการที่เราสมัคร อัพเดทข่าวสาร สถานการณ์บ้างเมืองค่ะ เผื่อว่ากรรมการอาจจะถามความคิดเห็นเราเกี่ยวกับประเด็นที่เป็นที่สนใจของสังคม
ประสบการณ์การแลกเปลี่ยนครั้งแรกในชีวิต
ขาวได้ถ่ายทอดความรู้สึกเกี่ยวกับประสบการณ์การแลกเปลี่ยนในต่างประเทศครั้งแรกในชีวิตให้พวกเราฟังว่า
“ขาวไปแลกเปลี่ยนครั้งแรกที่ประเทศฟิลิปินส์ เป็นโครงการแลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรมที่ Imus Institute of Science and Technology ณ เมือง Cavite เป็นระยะเวลา 1 เดือน ด้วยความที่เราไม่เคยมีประสบการณ์การสมัครทุนมาก่อน บวกกับอยากไปแลกเปลี่ยนต่างประเทศมากๆ ตั้งแต่สมัยมัธยม พอรู้ว่าตัวเองได้ทุน ได้ไปต่างประเทศก็ร้องไห้หนักมากเลยค่ะ โทรบอกทุกๆ คนที่บ้าน แล้วก็ไปแก้บนค่ะ 555555”
นอกจากนี้ยังเล่าถึงความประทับใจในการแลกเปลี่ยนอีกว่าเธอมีความประทับใจในทุกโครงการที่เข้าร่วม เพราะแต่ละโครงการก็ล้วนได้มีโอกาสทำกิจกรรม ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่แตกต่างกัน ซึ่งเรียกได้ว่าดี และประทับใจทุกโครงการ
โครงการแลกเปลี่ยนที่หินที่สุดในชีวิต
“โครงการที่หินที่สุด ในแง่ของกระบวนการคัดเลือกคิดว่าน่าจะเป็นโครงการ UNGA ของกระทรวงการต่างประเทศค่ะ เพราะขั้นตอนการคัดผู้แทนเยาวชนมีหลายขั้นตอน
เริ่มตั้งแต่การสอบข้อเขียนค่ะ ที่ผู้สมัครทุกคนจะต้องเขียน essay ประมาณ 3 หน้าในเวลา 3 ชั่วโมง ซึ่งเป็นคำถามปลายเปิด พอผ่านรอบข้อเขียนแล้ว จะมีผู้สมัครจำนวน 15 คน ที่ผ่านเข้ารอบสัมภาษณ์ค่ะ
ซึ่งทั้ง 15 คนนี้จะต้องผ่านการสอบสัมภาษณ์ทั้งในรูปแบบ Group Discussion และ Individual Interview ค่ะ
หลังจากรอบสัมภาษณ์แล้ว ก็จะมีผู้ที่ผ่านเข้ารอบถัดไป 4 คน นั่นคือรอบฝึกงานที่กระทรวงการต่างประเทศ เป็นเวลา 2 สัปดาห์ค่ะ โดยพวกเรา 4 จะได้ไปฝึกงานที่ กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ช่วงเวลา 2 สัปดาห์ที่เราฝึกงานที่นี่ ก็ได้เรียนรู้งานเยอะมากๆ ค่ะ มีทั้งแบบง่าย ยาก และยากมาก แต่ทุกงานที่ได้ลองทำก็รู้สึกว่าเราได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ที่สายงานแบบเราไม่เคยได้ทำค่ะ
และวันสุดท้ายของการฝึกงาน พี่ๆ นักการทูตที่กรมองค์การฯก็จะมาฟังเราอ่าน Statement และ comment และมีการสอบสัมภาษณ์อีกเล็กๆน้อยค่ะ
หลังจากฝึกงานเสร็จแล้ว ทางกระทรวงการต่างประเทศก็จะประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้แทนเยาวชนไทย 2 คน ซึ่งวินาทีที่ได้รู้ว่าตัวเองเป็น 1 ใน 2 ที่ได้รับคัดเลือกก็ดีใจแบบสุดๆ รู้สึกว่าหูดับ โลกหยุดหมุนเลยทีเดียว 555 และนี่ก็เป็นเหตุผลที่ขาวคิดว่า โครงการ UNGA เป็นโครงการที่หินที่สุดค่ะ
สำหรับการเตรียมตัวของขาว คือ พยายามติดตามข่าวสารเยอะๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศค่ะ แล้วก็ศึกษาประเด็นที่ประเทศไทยกำลังประสบค่ะ และที่เหลือก็ทำให้เต็มที่ค่ะ เป็นตัวของตัวเองทั้งในการเขียน Essay หรือการตอบคำถามตอนสัมภาษณ์ค่ะ”
ประสบการณ์ในการเข้าร่วม “การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 73” ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ (UN) ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
“การได้รับคัดเลือกเป็นผู้แทนเยาวชนไทยในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เป็นประสบการณ์ที่เปลี่ยนชีวิตของขาวมากค่ะ ขาวได้ไปเจอเพื่อนๆ เยาวชนจากประเทศอื่น ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมไปถึงอุดมการณ์ของแต่ละคน และก็ได้รู้ว่าเยาวชนเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทมากต่อการเปลี่ยนแปลงสังคม และโลก
และในการเดินทางไปร่วมประชุมในครั้งนี้ ขาวได้รับความรู้เกี่ยวกับ Issues ในภูมิภาคต่างๆของโลก และได้รู้ถึงปัญหาที่คนแต่ละกลุ่มวัยกำลังเผชิญอยู่ค่ะ ได้ร่วมฟังความคิดเห็นของผู้นำจากประเทศต่างๆ ถึงแนวทางและนโยบายที่เขาใช้แก้ปัญหาต่างๆ เรียกได้ว่า เป็นความรู้และประสบการณ์ตรงที่ไม่สามารถหาได้จากหนังสือเล่มไหนเลยก็ว่าได้ค่ะ”
แรงจูงใจให้เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนต่างประเทศ
“แรงจูงใจที่ทำให้ขาวสนใจโครงการแลกเปลี่ยนต่างประเทศคือ ความต้องการที่อยากจะพัฒนาตนเองค่ะ เพราะขาวมีความเชื่อว่าโครงการใดๆ ก็ตามไม่ใช่เฉพราะโครงการแลกเปลี่ยนต่างประเทศ เมื่อคนหลายๆ คน ที่มีความคิดเห็นเหมือนกันบ้าง ต่างกันบ้าง ได้มาคุยกับแลกเปลี่ยนซึ่งความรู้และประสบการณ์กัน ผลที่ได้มาจะเป็น ความรู้ใหม่ๆ และแนวคิดและมุมมองใหม่ๆค่ะ
เพราะในเรื่อง 1 เรื่อง คน 10 คนก็อาจจะมีความคิดเห็น หรือมุมมองที่แตกต่างกัน แต่ความแตกต่างทางความคิดนั้น ขาวมองว่ามันเป็นบันไดอีกขั้นไปสู่การเรียนรู้ค่ะ และมันจะทำให้เราเป็นคนที่ open-minded มากยิ่งขึ้น ขาวคิดว่านี่เป็นเสน่ห์ของการที่เราได้ไปพูดคุย และมี interaction กับคนหลายๆ กลุ่ม ที่ขาวได้ไปสัมผัสในโครงการต่างๆ ค่ะ”
แนะนำวิธีการปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนต่างชาติ
“หัวใจของการที่เราจะปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนๆ ที่มี background ต่างจากเราก็คือ การเคารพซึ่งกันและกันค่ะ เราจะต้องให้เกียรติเพื่อนทั้งคำพูด การวางตัวค่ะ นอกจากนี้ก็ต้องเปิดใจเรียนรู้วัฒนธรรม ความแตกต่างนั้นๆ ค่ะ”
แนะนำวิธีการฝึกภาษาอังกฤษแบบฉบับของขาว
“การฝึกภาษาอังกฤษที่ดีที่สุด คือ การใช้ภาษาอังกฤษค่ะ ขาวมองว่าภาษาอังกฤษเป็นเหมือนเครื่องมือที่ใช้เราใช้ในการสื่อสาร เหมือนกันมีดค่ะ ถ้าเราไม่ใช้บ่อยๆ มันก็จะสนิมขึ้น ประสิทธิภาพของมีดใบนั้นก็จะลดลง เช่นเดียวกันถ้าเราไม่ฝึก ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเลย เราก็จะลืมค่ะ เหมือนมีดขึ้นสนิม
ดังนั้น จะพัฒนาภาษาอังกฤษก็ต้องฝึกและใช้ภาษาอังกฤษเยอะๆ ค่ะ”
สิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนต่างประเทศ
“สิ่งที่ขาวได้จากการเข้าร่วมโครงการเหล่านี้มีเยอะมากๆค่ะ ไม่ว่าจะเป็น (1) ทำให้เรากล้าเป็นคนแสดงความคิดเห็น (2) ได้แรงบันดาลใจและไอเดียที่จะนำมาพัฒนาชุมชน (3) ทำให้เรามุบุคลิกภาพที่ดี และเข้ากับคนอื่นได้ง่าย (4) ได้พัฒนาภาษาอังกฤษ และโดยเฉพาะทักษะการพูด การนำเสนอ และ (5) ได้เป็นแรงบันดาลใจให้น้องๆ หรือใครหลายๆ คนที่มีความสนใจในการเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนแบบขาวค่ะ
ก่อนจะจบบทความนี้น้องขาวยังฝากมาบอกเพื่อนๆ น้องๆ ที่กำลังเดินตามความฝันกันอีกว่า “สำหรับใครที่สนใจโครงการแลกเปลี่ยนในต่างประเทศนะคะ สิ่งเดียวที่เราต้องเอาชนะก็คือ ตัวเราเองค่ะ และเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเองค่ะ” รู้แบบนี้แล้วอย่าลืมฝึกฝนตัวเอง แล้วทำความฝันให้เป็นจริงกันเถอะ!!
One Comment
Comments are closed.
[…] (อ่านได้ที่นี่) ในวันนี้เราจึงมีสาระดีๆ […]