ในปีนี้เนื่องจากมีกระแสของ TCAST ที่ร้อนระอุ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อน้องๆ วัยมัธยมที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่เฟรชชี่มหาลัยจำนวนมาก
เด็กหลายคนที่อาจจะยังไม่แน่ใจในตัวเอง ว่าความจริงแล้วคณะในฝันที่อยากจะใช้เวลา 4 – 5 ปีในรั้วมหาวิทยาลัยคือคณะไหนกันแน่ แล้วยิ่งเจอความกดดันจากระบบที่ยังไม่คุ้นเคย จึงไม่เเปลกที่จะทำให้เกิดเป็นการแข่งขันที่ตึงเครียดแบบทุกวันนี้
เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในบ้านเราหรอกนะ เพราะไม่ว่าจะที่ไหน เมื่อมีการแข่งขัน ย่อมตามมาพร้อมความกดดันอยู่เสมอ ทางฝั่งตะวันตกเอง ถึงจะเห็นเค้าเรียนกันชิวๆ แบบนั้น ความจริงแล้วก็ต้องแลกมากับความพยายามหลายๆ อย่าง เพื่อให้ตัวเองประสบความสำเร็จเช่นกัน
ดังนั้น เพื่อให้รู้ว่าความจริงแล้วสิ่งที่ตัวเราทำได้ หรือตัวเองต้องการอะไร จึงได้มีวัฒนธรรม “Gap Year” เกิดขึ้นในหมู่วัยรุ่นตะวันตกยังไงล่ะ
“Gap Year” คือช่วงเวลา 1 ปี หลังจบมัธยมปลายที่เด็กๆ ฝั่งตะวันตกจะใช้เพื่อค้นหาตัวเอง ภายใต้แนวคิดที่ว่า ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนในการสอบเข้า เอาไว้ให้แน่ใจว่าอยากเรียนอะไร แล้วค่อยสมัครก็ยังไม่สาย สำหรับบางคน Gap Year อาจเป็นช่วงรอยต่อระหว่างปริญญาตรีกับปริญญาโทก็ได้เช่นเดียวกัน
ซึ่งในช่วงเวลานี้ หลายคนก็ใช้ไปกับการค้นหาตัวเอง อย่างการออกเดินทาง การลงเรียนอะไรก็ได้ที่อยากเรียน หรือไปเป็นอาสาสมัคร เรียกได้ว่า อะไรที่อยากทำแต่ติดว่าไม่มีเวลาว่าง สามารถขนมาทำในช่วงนี้ได้ทั้งหมดเลย
ในบ้านเราช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ก็มีหลายคนที่เริ่มเปิดรับวัฒนธรรมจากต่างชาติ ออกเดินทางไปยังต่างแดนหรือร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ค้นหาตัวเอง แม้จะไม่ถึงกับหยุดเรียน แต่ก็เป็นการใช้เวลาว่าง เช่น ช่วงปิดเทอม ไปกับการค้นคว้าสิ่งใหม่ๆ เพื่อหาตัวตนที่อาจจะเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน
ในปัจจุบัน มีโปรแกรม Gap Year ที่น่าสนใจมากมาย จากหลายองค์กรทั้งในและต่างประเทศให้ได้ลองติดตามข้อมูลข่าวสาร หรือจะเลือกใช้เวลาวันหยุด ออกค่ายกิจกรรม ทำงานพิเศษ หรือเรียนฟรีตามหลักสูตรออนไลน์ก็ได้เช่นกันจ้ะ
สำหรับน้องๆ ที่กำลังกังวลกับการสอบที่จะมีขึ้นในครั้งต่อไป หรือน้องๆ ที่้ต้องเตรียมตัวเพื่ออนาคตในวันข้างหน้า อาจเป็นเรื่องดีที่จะใช้เวลาในการหาตัวเองให้เจอ ก่อนจะตัดสินใจเลือกในสิ่งที่จะกำหนดอนาคตของเราก็ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องลองคุยกับคุณพ่อคุณแม่ให้เข้าใจ ที่สำคัญที่สุด ต้องถามตัวเองให้แน่ใจก่อนด้วยนะจ๊ะ ว่าจริงๆ แล้ว เราชอบอะไร หรือเราอยากทำอะไรกันแน่:)
ที่มา: gapyear