วันนี้ Scholarship.in.th จะพาเพื่อนๆไปทำความรู้จักกับพระราชประวัติของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เจ้าฟ้านักการศึกษาของชาวไทย…ตามไปดูกันเลยครับ
พระองค์ทรงเข้ารับการศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา ซึ่งตั้งอยู่ภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ในปี พ.ศ. 2501 และทรงศึกษาจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในแผนกศิลปะและทรงสอบไล่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายด้วยคะแนนสูงสุดของประเทศ!!!
ต่อมาได้ทรงสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสามารถทำคะแนนสอบเอนทรานซ์เป็นอันดับ 4 ของประเทศ ซึ่งถือเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรกที่ทรงเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในประเทศ จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2520 พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง ด้วยคะแนนเฉลี่ย 3.98
ต่อจากนั้นพระองค์ทรงเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ด้านจารึกภาษาตะวันออก(ภาษาสันสกฤต และภาษาเขมร) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และพระองค์ยังทรงเข้ารับการศึกษาระดับปริญญาโทเพิ่มเติมในสาขาภาษาบาลีและสันสกฤต ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ต่อมาพระองค์ทรงเข้าศึกษาในระดับปริญญาเอก คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ซึ่งในครั้งนี้พระองค์ผ่านการสอบคัดเลือกเข้าเรียนในระดับปริญญาเอกด้วยคะแนนอันดับหนึ่งจากผู้เข้าสอบทั้งหมด และทรงเป็นนิสิตปริญญาการศึกษาดุษฎีบัณฑิต สาขาพัฒนศึกษาศาสตร์ รุ่นที่ 4 พระองค์ทรงสอบผ่านวิทยานิพนธ์อย่างยอดเยี่ยม
ทั้งนี้ยังได้มีการนำเอาคำพูดที่คณาจารย์ที่เคยสอนพระองค์ท่านมานำเสนอ ได้แก่…
“ในด้านการเรียน พระองค์ทรงเลือกวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาเอก เพราะทรงเห็นว่าวิชาประวัติศาสตร์น่าจะเป็นประโยชน์ในอนาคต และเพราะความสนพระทัยส่วนพระองค์ด้วย สำหรับวิชาโททรงเลือกภาษาไทยกับบาลีสันสกฤต ขณะนั้นทางคณะให้เลือกได้สองวิชาโท ผมมีโอกาสได้ถวายการสอนพระองค์ท่านวิชาเดียวคือ วิชาภูมิศาสตร์การเกษตร เป็นวิชาเลือก คงสนพระทัยจากการได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบ่อยๆตอนนั้นในฐานะที่เป็นอาจารย์ผู้สอน ยังรู้สึกว่าท่านทรงรู้มากกว่าเราเยอะ เพราะมีโอกาสเสด็จไปทุกแห่งซึ่งบางแห่งเราไม่มีโอกาสไป คงได้แต่ว่าไปตามเนื้อหาวิชา แต่จุดรายละเอียดในพื้นที่ท่านทรงรู้ดีกว่าเรา มีนิสิตลงเรียนเยอะเพราะเป็นทั้งวิชาเลือกและวิชาเอกโท เห็นจะ ๓๐ กว่าคน ความจริงต้องมีการเรียนนอกสถานที่ด้วย แต่พระองค์ไม่ได้เสด็จเพราะทรงมีพระราชภารกิจอย่างอื่น” ศ.ดร.ไพฑูรย์ พงศะบุตร คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ พ.ศ.2516
“สมัยเรียนหนังสือท่านทรงรู้จักนิสิตมาก ทั้งรุ่นเดียวกับท่าน รุ่นพี่ และต่างคณะ ท่านทรงเป็นสมาชิกชมรมดนตรีไทย ชมรมวรรณศิลป์ของคณะ ทำหนังสือ อักษรศาสตรพิจารณ์ ของชมรมวิชาการของคณะอักษรฯ ทำหนังสือ สะพาน ของชมรมนิสิตประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ ความที่ท่านทรงเป็นสมาชิกชมรมของคณะอักษรศาสตร์และของจุฬาฯ จึงมีเพื่อนมาก ท่านทรงรู้จักนิสิตมากกว่าดิฉันเสียอีก ทรงเรียกเขาว่าพี่ด้วยชื่อเล่น ดิฉันเองยังทูลถามด้วยซ้ำไปว่า ที่รับสั่งเรียกพี่อะไรนั่นน่ะ ชื่อจริงๆ ว่าอะไร เพราะดิฉันไม่เคยเรียกนิสิตด้วยชื่อเล่น แต่ท่านจะเหมือนนิสิตทั่วไปที่จะเรียกรุ่นพี่ด้วยชื่อเล่น เราก็ถามว่านั่นน่ะใคร ท่านก็จะรับสั่งว่าคนนั้นไง เราก็ถึงบางอ้อ ท่านทรงทำตัวเป็นนิสิตธรรมดา ทรงรู้จักรุ่นพี่ที่เป็นประธานเชียร์ เพราะท่านโปรดเข้าห้องเชียร์” ดร.บุษกร (ลายเลิศ) กาญจนจารี พระอาจารย์ที่ปรึกษา
“ส่วนที่ประทับใจไม่รู้ลืม คือ ทุกครั้งที่เสด็จฯไปเรียน พระกระเป๋าของพระองค์เปรียบเสมือนของมหัศจรรย์ เพราะมีทุกอย่างในนั้น ไม่ว่าจะกาว กรรไกร ยาดม แม้กระเป๋าจะหนัก แต่พระองค์ก็ทรงถือไปทุกวัน และเพื่อนก็ชอบ เพราะสะดวกเหลือเกิน ไม่มีอะไรก็ทูลขอกันประจำ ทรงโอบอ้อมอารีกับเพื่อนๆ รุ่นพี่ และรุ่นน้อง แม้กระทั่งสุนัขในมหาวิทยาลัยก็ทรงมีพระเมตตา ด้วยน้ำพระทัยนี้ทำให้เพื่อนๆ ทั้งหลายประทับใจ พระอุปนิสัยของพระองค์เป็นสิ่งที่วิเศษมาก ทรงมีพระปรีชามากมายหลายด้าน แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ ทรงถ่อมพระองค์ ไม่เคยทรงคิดว่าพระองค์เก่งเลย แต่จะทรงคิดว่า จะต้องค้นหาความรู้ หรือถามไถ่ผู้รู้ต่างๆ อยู่ตลอดเวลา และอีกสิ่งหนึ่งคือความซื่อสัตย์สุจริต อะไรที่เป็นผลงานของพระองค์ ก็ทรงยอมรับ อะไรที่ไม่ใช่ ก็ทรงแจกแจงอย่างเปิดเผย ซึ่งนี่คือวิสัยที่ดีมากของผู้มีปัญญา” ผศ.ดร.สุกัญญา บำรุงสุข
วันนี้ขอลากันไปเพียงเท่านี้ก่อน แล้วกับมาพบกับวาไรตี้ดีๆอัพเดททุกวันกับ Scholarship.in.th กันนะครับ
ที่มา: manager