สมัยนี้เทคโนโลยีไปไกลและครอบคลุมไปถึงการศึกษาแบบค่อนข้างเต็มรูปแบบแล้ว จึงไม่แปลกเลยที่การศึกษาแทบทุกประเภทจะต้องพึ่งพาเทคโนโลยี และในขณะเดียวกันความสะดวกสบายและความน่าเชื่อถือของเทคโนโลยีก็ทำให้ผู้เล่นอินเทอร์เน็ตหลายกลุ่มเลือกที่จะหยิบเอาสิ่งที่เขียนไว้บทอินเทอร์เน็ตมาอ้างอิง ทั้งๆที่ข้อมูลบางอย่างนั้นไม่ถูกต้อง
ผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยเยลเปิดเผยว่า การค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตทำให้คนหลงคิดว่าตัวเองมีความรู้มากขึ้น ทั้งที่จริงๆ แล้ว ข้อมูลเหล่านั้นส่วนใหญ่ไม่ได้รับการบันทึกเป็นความจำหรือความรู้ความเข้าใจในระยะยาว
วารสาร Experimental Psychology ตีพิมพ์งานวิจัยล่าสุดของมหาวิทยาลัยเยล เกี่ยวกับผลกระทบจากการใช้อินเทอร์เน็ตต่อการประเมินความฉลาดของคนเรา พบว่าการค้นหาข้อมูลต่างๆ ทางอินเทอร์เน็ตทำให้คนจำนวนหนึ่งเชื่อว่าตัวเองฉลาดขึ้น ทั้งที่จริงๆ แล้วข้อมูลที่ได้จากอินเทอร์เน็ตไม่มีความเสถียรเหมือนความรู้จากวิธีแบบดั้งเดิม
ข้อสรุปดังกล่าวได้มาจากการทดลองและการทำแบบสอบถามหลายประเภทรวมกัน โดยกลุ่มตัวอย่างที่ถูกขอให้หาคำตอบเรื่องทั่วไปบนอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่รู้สึกว่าตัวเองฉลาดขึ้นหลังการค้นหา นอกจากนี้ สมองของพวกเขายังตื่นตัวในขณะค้นหามากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่ไม่ได้ค้นหาคำตอบจากอินเทอร์เน็ตด้วย โดยตื่นตัวแม้กระทั่งในช่วงเวลาที่ยังไม่เจอสิ่งที่ตัวเองต้องการ
ทีมนักวิจัยอธิบายว่า อินเทอร์เน็ตทำให้คนสับสนระหว่างสิ่งที่ตัวเองคิดว่ารู้กับสิ่งที่ตัวเองรู้จริงๆ เนื่องจากปัจจุบัน อินเทอร์เน็ตทำหน้าที่เสมือน “เอ็กซ์เทอร์นัล ฮาร์ดไดรฟ์” เก็บข้อมูลสำคัญและความรู้ต่างๆ ไว้มากมาย โดยคนสามารถเปิดหาข้อมูลเหล่านั้นได้เมื่อต้องการ แต่กลับไม่ได้บันทึกเป็นความรู้ความเข้าใจในระยะยาวมากนัก
ทีมนักวิจัยเตือนด้วยว่า ภาวะดังกล่าวอาจส่งผลให้คนๆ นั้น ไม่สามารถประเมินช่องว่างระหว่างข้อมูลภายในและภายนอกของตัวเองได้ ซึ่งก็ทำให้การดึงความรู้มาใช้ในช่วงเวลาที่เหมาะสมทำได้อย่างยากลำบากตามไปด้วย
ใครที่ต้องสืบค้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ตบ่อยๆต้องระวังนะครับ ดูดีๆว่าข้อมูลเหล่านั้นน่าเชื่อถือได้มากเท่าไหร่ แล้วมีการอัพเดตบ้างหรือไม่ เพราะโลกเรามีหลายสิ่งที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาครับ
source: sanook