ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศสิงคโปร์แล้ว ไม่เป็นสองรองใครเรื่องเทคโนโลยีเลยล่ะ เพราะเรื่องเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยในสิงคโปร์ถึงขั้นติดอันดับโลกไปเพียบ แล้วในตอนนี้ สิงคโปร์ก็สามารถนำหุ่นยนต์มาให้ทำงานแทนแรงงานคนในห้องสมุดแล้ว น่าตื่นเต้นและภูมิใจแทนประเทศเขาจริงๆนะครับ
โดยสิงคโปร์เข้าใจถึงพฤติกรรมของคนในปัจจุบันที่เปลี่ยนไป หลายคนไม่หันมาเข้าห้องสมุดเพราะหาข้อมูลได้สะดวกจากการใช้งานคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล คอมพิวเตอร์พกพา และอุปกรณ์พกพาแพร่หลายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความง่ายในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต จึงทำให้เรื่องการแปลงข้อมูลห้องสมุดเป็นดิจิตอล และนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ เหล่านี้เกิดขึ้นมานานมากกว่า 10 ปี
ดังนั้น สิงคโปร์จึงสลัดภาพห้องสมุดแบบเดิมๆ จากห้องสมุดที่ผู้ใช้ต้องเดินหาหนังสือเอง และมาเข้าแถวเพื่อรอยืมจากบรรณารักษ์ให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น โดยการยืมคืน จากเครื่องยืมหนังสือด้วยตนเอง, ป้ายกำหนดรหัสประจำตัวด้วยคลื่นความถี่วิทยุแล้ว ล่าสุดคือการใช้โทรศัพท์มือถือในการยืมหนังสือ ซึ่งเป็นนวัตกรรมอีกขั้นในการยืมหนังสือที่เริ่มใช้ตั้งแต่ พ.ศ.2557 เพียงแค่หยิบโทรศัพท์มือถือออกมาและยืมหนังสือได้ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดในห้องสมุด ด้วย “NLB Mobile App” จาก App store ซึ่งแอพพลิเคชั่นนี้ได้รับรางวัลเกียรติคุณจากสมาคมห้องสมุดแห่งอเมริกา (American Library Association) ด้านโครงการนวัตกรรมห้องสมุดนานาชาติ พ.ศ.2558
ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ นวัตกรรมห้องสมุดเชิงกายภาพ ที่ NLB นอกจากจะมี อุปกรณ์ระบุตำแหน่งแบบออนไลน์ ที่ช่วยลดระยะเวลาในการหาสิ่งที่ต้องการของผู้ใช้บริการได้ โดยเมื่อผู้ใช้บริการต้องการสืบค้นเรื่องใด อุปกรณ์จะแสดงแผนที่ไปยังหนังสือหรือวัสดุนั้นบนระบบออนไลน์ทันที
และยังมี “หุ่นยนต์อ่านชั้นหนังสือ” การทดลองใช้ “หุ่นยนต์อ่านชั้นหนังสือ” ช่วยให้ NLB สามารถอ่านหนังสือบนชั้นทั้งหมดในห้องสมุดแห่งหนึ่งด้วยระบบดิจิตอล โดยหุ่นยนต์สามารถระบุได้ว่าหนังสือเล่มใดอยู่บนชั้นที่ถูกต้อง และเป็นหนังสือของห้องสมุดนี้หรือห้องสมุดอื่นวางผิดชั้นหรือไม่ กระบวนการทั้งหมดสามารถทำเสร็จสิ้นภายในคืนเดียว ซึ่งหากงานนี้ทำโดยคณะเจ้าหน้าที่ห้องสมุด การตรวจสอบหนังสือทั้งหมดบนชั้นอาจกินเวลายาวนาน ในการทดลองใช้งาน หุ่นยนต์ทำงานในเวลากลางคืนหลังจากที่ห้องสมุดปิดทำการ
ในวันนี้ NLB มีหนังสืออิเล็กทรอนิกส์กว่า 3.5 ล้านเล่มที่ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงได้เสมอ และสิงคโปร์ยังไม่หยุดอยู่แค่นี้ ตอนนี้ NLB กำลังแสวงหาวิธีการเพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถสืบค้นเนื้อหาที่เดิมสืบค้นไม่ได้ เช่น รูปภาพที่ไม่มีคำบรรยาย ซึ่งวิธีการหนึ่งคือการจับกลุ่มภาพที่เหมือนกัน นอกจากนี้ NLB ยังกำลังดำเนินการพัฒนาระบบการรู้จำใบหน้า (facial recognition) ลักษณะเด่นของบุคคล (prominent personalities) การประทับเวลา (timestamping) วิดีโอและโสตวัสดุ เพื่อให้การสืบค้นและค้นพบง่ายขึ้น การแปลภาษาด้วยเครื่อง (machine translation) ก็เป็นอีกศาสตร์หนึ่งที่ NLB กำลังศึกษา ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเข้าถึงทรัพยากรของ NLB ที่ปัจจุบันนี้ประกอบด้วย 4 ภาษา ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษามลายู และภาษาทมิฬ
source: mThai