สำหรับการไปเรียนต่อต่างประเทศ เรื่องเงินๆ ทองๆ เป็นหนึ่งในสิ่งที่นักเรียนนอกทุกคนต้องสร้างความคุ้นเคยเอาไว้ นอกจากจะต้องคอยติดตามอัตราแลกเปลี่ยนในแต่ละช่วงแล้ว ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิต บัตรเดบิต การโอนเงินผ่านธนาคาร และค่าธรรมเนียมการใช้บัตร ATM ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามนะจ๊ะ
ซึ่งตามปกติแล้วนั้น ครั้งแรกที่เดินทางไปต่างประเทศ ก็ควรจะมีเงินสดติดตัวไว้สำหรับใช้ชีวิตอยู่ในช่วง 1 – 2 สัปดาห์แรก เพราะช่วงนั้นอาจจะต้องยุ่งๆ กับหลายเรื่องจนยังไม่มีเวลาเปิดบัญชีนั่นเองครับ
และข้อสำคัญที่สุดคือ อย่าลืมติดตามอัตราการแลกเปลี่ยนเงินอยู่เสมอ เพราะอัตราการแลกเปลี่ยนเงินในแต่ละวันมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ควรจะรอโอกาสและหาเวลาที่เราแลกค่าเงินได้ดีที่สุด เหมาะสมที่สุดกันนะจ๊ะ และถ้าต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ควรเลือกช่วงเวลาที่ค่าเงินบาทแข็งค่าก็จะได้กำไรมากกว่านั่นเอง
วิธีการพกเงินไปต่างประเทศด้วยวิธีการต่างๆ
ดร๊าฟท์จากธนาคาร (Bank Draft)
ป็นตราสารการเงินประเภทหนึ่งที่ออกโดยธนาคารในประเทศไทย เพื่อสั่งให้ธนาคารในต่างประเทศจ่ายเงินตามจำนวนที่ระบุหน้าดร๊าฟท์ให้แก่ผู้รับเงิน ผู้ที่ไปเรียนต่อต่างประเทศสามารถซื้อดร๊าฟท์สั่งจ่ายชื่อตนเอง แล้วนำไปเปิดบัญชีกับธนาคารในต่างประเทศ
ข้อควรจำคือผู้ที่จะนำดร๊าฟท์ไปขึ้นเงินได้ ต้องเป็นคนที่มีชื่อระบุอยู่บนดร๊าฟท์เท่านั้น ดังนั้น ดร๊าฟท์จึงถือเป็นวิธีการหนึ่งที่ปลอดภัย เพราะถึงแม้เราทำสูญหายคนอื่นก็ไม่สามารถนำไปขึ้นเงินได้ แต่เราจะต้องขอให้ทางธนาคารในประเทศออกดร๊าฟท์ให้ใหม่ ซึ่งจะยุ่งยากนิดหน่อย แต่วิธีการนี้ก็ปลอดภัยมากๆ เลยว่ามั้ยล่ะ
เช็คเดินทางต่างประเทศ (Traveler’s Cheque)
เป็นตราสารการเงินสำหรับใช้จ่ายค่าสินค้าต่างๆ และแลกเป็นเงินสดได้ ในกรณีสูญหายหรือถูกขโมยเจ้าของเช็คสามารถติดต่อตัวแทนสถาบันการเงินในต่างประเทศให้ออกเช็คใหม่ทดแทนได้ และถ้าหากต้องการซื้อเช็คควรติดต่อไปยังธนาคาร เพื่อขอคำแนะนำว่าถ้าต้องการเดินทางไปยังประเทศนี้ควรซื้อเช็คของบริษัทอะไร เพราะบางสกุลเงินก็ไม่สามารถใช้เช็คได้นะจ๊ะ
บัตรเครดิต (Credit Card)
ก่อนนำบัตรเครดิตไปใช้ที่ต่างประเทศ อย่าลืมตรวจสอบกับทางบริษัทให้แน่ใจว่าบัตรนั้นสามารถนำไปใช้ที่ประเทศนั้นๆ ได้ หลักๆ แล้วผู้สมัครต้องอายุ 20 ปีขึ้นไป ส่วนบัตรเสริมที่พ่วงกับบัตรเครดิตของผู้ปกครองผู้ใช้ต้องอายุ 15 ปีขึ้นไป ควรเปรียบเทียบบัตรของหลายๆ ธนาคารเพื่อผลประโยชน์ของเรานะจ๊ะ
บัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตจากประเทศไทย (ATM & Debit Cards)
บัตรที่สามารถนำไปใช้ในต่างประเทศได้ จะต้องมีสัญลักษณ์ PLUS และ VISA อยู่บนบัตร เมื่อมีการถอนเกิดขึ้นเงินจะถูกหักจากบัญชีในประเทศไทยโดยอัตโนมัติ ค่าธรรมเนียมในการกดเงินจากต่างประเทศแต่ละครั้งอยู่ที่ประมาณ 100 บาท บางประเทศอาจมีการเก็บค่าค่าธรรมเนียมการถอนเพิ่มนอกเหนือจากค่าธรรมเนียมที่ธนาคารในประเทศไทยเรียกเก็บด้วยนะครับ
และแน่นอนวิธีการสุดท้ายคือขนเงินสดมันไปดื้อๆ นี่แหละ แต่การถือเงินสดก็มีข้อเสียคือเสี่ยงต่อการสูญหายและถูกขโมย การแลกเงินนั้นหากแลกตามแหล่งท่องเที่ยว สนามบิน สถานีรถไฟ มักจะได้เรตที่ต่ำกว่าที่อื่นเล็กน้อย ดังนั้น หากเป็นไปได้ควรจะแลกไว้ก่อนล่วงหน้าจะดีกว่านะจ๊ะ
Source: Hotcourse