แน่นอนเลยล่ะว่าขั้นตอนหนึ่งในการสมัครงาน หรือสมัครทุนการศึกษา หรือสมัครอะไรก็ตามแต่ การสัมภาษณ์นับว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้เราได้ในสิ่งที่เราต้องการเลยทีเดียวล่ะ
เมื่อถึงวันสัมภาษณ์ ผู้สมัครแต่ละคนเข้าไปในห้องสัมภาษณ์ และกลับออกมาด้วยความรู้สึกต่าง ๆ กันบ้าง “มีหวัง” บ้าง “หมดหวัง”บ้าง ซึ่งเหล่าบรรดาผู้สัมภาษณ์ก็เช่นกัน ที่มีทั้งคนที่ทำให้พวกเขารู้สึก “ประทับใจ” และบางคนก็ถึงกับทำให้พวกเขารู้สึกว่า “ไม่เอา” คนนี้แน่นอน แล้วคุณล่ะเป็นผู้สมัครงานแบบไหน!!?
และวันนี้ ScholarShip.in.th ก็ได้รวบรวมเอาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ และไม่พึงประสงค์ ที่ผู้สัมภาษณ์จะประทับใจและไม่ประทับใจ มาดูกันได้เลย
ผู้สมัครลักษณะที่จะทำให้ผู้สัมภาษณ์ประทับใจ
– เป็นตัวของตัวเอง และรู้กาลเทศะว่ากำลังทำอะไรอยู่ ไม่เกร็ง แต่งกายได้เรียบร้อย พูดจาฉะฉาน
– ตอบคำถามสัมภาษณ์ ด้วยความคิดเชิงบวก แสดงทัศนคติที่ดี
– นำเสนอผลงานให้ผู้สัมภาษณ์งานเห็นว่า ที่ผ่านมาคุณได้ทำประโยชน์อะไรให้กับบริษัทที่คุณเคยทำงาน หรือมหาวิทยาลัยที่เคยเรียนบ้าง
– บุคลิกดี นั่งตัวตรง สบตาผู้สัมภาษณ์เป็นระยะ ตอบคำถามอย่างมั่นใจ ไม่หลบสายตาหรือเหม่อลอย
– ตั้งใจฟังและตอบคำถามให้ตรงประเด็น ไม่นอกเรื่อง ออกทะเล
– ท่าทางดูผ่อนคลาย แต่มีพลัง แบบมืออาชีพ
– พอเข้าไปก่อนสัมภาษณ์กล่าวคำทักทาย ยิ้ม จับมือหรือไหว้(กรณีเป็นชาวต่างชาติ) และเมื่อสัมภาษณ์เสร็จ อย่าลืมกล่าวคำอำลาด้วยรอยยิ้ม ขอบคุณผู้สัมภาษณ์ สร้างความประทับใจก่อนจากกัน
ผู้สมัครที่ไม่พึงประสงค์สำหรับผู้สัมภาษณ์
– ไม่ตรงเวลา มาสาย ต้องให้ผู้สัมภาษณ์ได้รอนานๆ
– ไม่เป็นตัวของตัวเอง ดูไม่มีพลัง ไม่มั่นใจ ขยุกขยิก ยุกยิก ดูร้อนรนไม่เป็นมืออาชีพ
– พูดมากเกินไป พาออกอ่าวออกทะเล หรือพูดน้อยเกินไป ถามคำตอบคำ
– ไม่ตั้งใจฟังคำถาม ตอบไม่ตรงคำถาม ตอบคลุมเครือ หรือตอบคำถามด้วยคำถาม ทำให้เสียเวลาเยิ่นเย้อ
– ไม่ยกตัวอย่าง เพื่ออธิบายความสำเร็จที่ผ่านมาให้ชัดเจน ได้แต่พูดว่าเก่งด้านนั้น ด้านนี้ แต่ไม่มีอะไรมาซัพพอร์ตเลย
– แต่งตัวไปสัมภาษณ์งานไม่เหมาะสม กริยามารยาทไม่เรียบร้อย ผมเผ้ารุงรัง
– การแสดงออกดูไม่เป็นมืออาชีพ หรือเป็นกันเองเกินไป ขี้เล่นมากไป หัวเราะคิกคักจนเกินงาม
– ไม่มีการสบตาผู้สัมภาษณ์ ไม่ใช้ภาษาท่าทาง เกร็งเกินไป ทำให้การพูดคุยไม่ค่อยลื่นไหล
และนี่คือเหล่าคุณสมบัติอันพึงประสงค์ และไม่พึงประสงค์ของผู้สัมภาษณ์นะจ๊ะ แล้วเราล่ะ เป็นแบบไหนกัน!?
Source: Hunsa