น้องๆคนไหนที่ต้องเตรียมเลือกสาขาที่จะเรียนในปีหน้า และยังคิดไม่ออก หรือคนไหนที่ต้องการซิ่วไปเรียนสาขาอื่น มาดูกันเถอะว่าวิชามาแรงมีสาขาอะไรกันบ้าง
อันดับ 1 : บัญชี (Accounting)
ยังคงเป็นสาขายอดนิยมที่การันตีได้ว่าจบแล้วมีงานทำอย่างแน่นอน ไม่เฉพาะในประเทศไทย ในต่างประเทศก็ฮอตเวอร์ไม่แพ้กัน เพราะการทำธุรกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารธุรกิจ การจัดการ การประกอบกิจการไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ต้องใช้บุคลากรทางด้านบัญชีทั้งสิ้น โดยผลจากการสำรวจของ NACE บริษัทและนายจ้างต้องการมากที่สุดเป็นอันดับ 1 มีจำนวนผู้ต้องการจ้างสูงถึง 98 ราย คิดเป็น 54.4%
อันดับ 2 : วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ (Computer Science)
อันดับที่สองสาขาวิชาเอกที่นายจ้างต้องการมากที่สุด ได้แก่ วิทยาการคอมพิวเตอร์ หรือวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ (Computer science) มีจำนวนผู้ต้องการจ้างงาน 97 ราย คิดเป็น 53.9% ผู้ที่จบปริญญาสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ จะมีความรู้ที่หลากหลายและเหมาะสมกับอาชีพมากมาย เช่น วิศวกรซอฟต์แวร์, โปรแกรมเมอร์, โปรแกรมเมอร์เกมส์, นักพัฒนาเว็บไซต์ และคอมพิวเตอร์กราฟฟิคดีไซน์ เป็นต้น
อันดับ 3 : การเงิน (Finance)
การบริหารและจัดการเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือหัวใจสำคัญของสาขาวิชา Finance เรียนจบมาแล้วก็สามารถไปทำงานได้หลายด้าน โบรกเกอร์ จัดพอร์ต, งานธนาคาร หรือบริษัททั่วไป นายจ้างและบริษัทต่างๆ ก็ต้องการบุคลที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยบริหารองค์กร จึงไม่น่าแปลกใจที่สาขาวิชาการเงิน จะเป็นสาขาฮอตติดอยู่ในอันดับที่ 3 สาขาวิชาที่นายจ้างต้องการมากที่สุด จากผลสำรวจกว่า 91 ราย คิดเป็น 50.6%
อันดับ 4 : บริหารธุรกิจ (Business Administration/Mgmt.)
ยังอยู่ที่เรื่องของการเงินและการบริหารธุรกิจ ในอันดับที่ 4 สาขาวิชาที่นายจ้างต้องการจ้างงานมากที่สุดในปี 2016 จากผลการสำรวจของ NACE คิดเป็น 86 ราย 47.8% ในการประกอบธุรกิจนั้นเรื่องของการบริหารงานจัดว่าสำคัญมาก สาขาบริหารธุรกิจจึงมีความสำคัญกับธุรกิจในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งทักษะเรื่องการวางแผนและวิเคราะห์ทางการเงินการบริหารเงินทุน และยังเป็นสาขาที่นิยมเรียนมากในระดับปริญญาโทอีกด้วย
อันดับ 5 : วิศวกรรมเครื่องกล (Mechanical Engineering)
สาขาฮิตตลอดกาลคงจะหนีไม่พ้นหลักสูตรด้านวิศวกรรมศาสตร์ ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะ “วิศวกรรมเครื่องกล” ที่นายจ้างต้องการตัวมากที่สุดสาขาหนึ่งจากผลการสำรวจ 83 ราย คิดเป็น46.1% เมื่อเรียนจบไปแล้วสามารถเลือกทำงานในสายวิศวกรรมได้หลากหลายด้าน การผลิต, พลังงานและระบบสาธารณูปโภค หรือจะทำงานในสายอุตสาหกรรมรถยนต์, น้ำมัน, อุตสาหกรรมรีไซเคิล, เทคโนโลยี, เทคโนโลยีทางดนตรี, วิศวกรรมการแพทย์ เป็นต้น
อันดับ 6 : สารสนเทศศาสตร์ (Information science & system)
วิทยาการสารสนเทศ หรือ Information Science เป็นการศึกษาเกี่ยวกับทฤษฎีสารสนเทศ ตั้งแต่การรับรู้, การทำความเข้าใจ, การวิเคราะห์, การสังเคราะห์, การเก็บ, การค้นคืน, การสื่อสาร สารสนเทศอย่างเป็นระบบ ในการศึกษาด้านวิทยาการสารสนเทศนั้น มีความจำเป็นต้องศึกษาวิชาในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ด้วยเนื่องจากใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือสำหรับประมวลผลสารสนเทศ อยู่ในอันดับที่ 6 สาขาวิชาที่นายจ้างต้องการมากที่สุด 75 ราย คิดเป็น 41.7%
อันดับ 7 : ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ (Management Information Systems)
ปัจจุบันขอบเขตการทำงานของระบบสารสนเทศขยายตัวจากการรวบรวมข้อมูลที่มาจากภายในองค์การไปสู่การเชื่อมโยงกับแหล่งข้อมูลจากสิ่งแวดล้อมภายนอก ทั้งจากภายในท้องถิ่น ประเทศ และระดับนานาชาติ ปัจจุบันธุรกิจต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่มีศักยภาพสูงขึ้น เพื่อสร้าง MIS ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเพิ่ม ขีดความสามารถของธุรกิจ และขีดความสามารถในการบริหารงานของผู้บริหารในยุคปัจจุบัน
อันดับ 8 : วิศวกรรมไฟฟ้า (Electrical Engineering)
อีกหนึ่งสายงานด้านวิศวกรรมศาสตร์ ที่ติดอยู่ในอันดับ Top 10 สาขาวิชาที่นายจ้างต้องการมากที่สุดในปี 2016 นี้ โดยวิศวกรรมไฟฟ้าสามารถทำงานได้หลากหลายสายงาน เช่น วิศวกรควบคุมการออกอากาศ, วิศวกรควบคุมอุปกรณ์, โดยสายงานหลักของสาขานี้จะเน้นอยู่ที่ สายงานด้านยานยนต์, อวกาศ, เทคโนโลยีสารสนเทศ, เครื่องมือแพทย์, เครื่องมือสื่อสารและอุตสาหกรรมการผลิต
อันดับ 9 : โลจิสติกส์ และซัพพลายเชน (Logistics/ Supply/ Chain)
โลกแห่งการแข่งขันทางธุรกิจไม่ใช่เพียงแค่มีการดำเนินงานให้เกิดการซื้อขายและบริการเท่านั้น แต่ต้องเข้าใจในเรื่องของการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนด้วย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้อยู่รอดท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ได้ดีกว่าคู่แข่งขันด้วย ดังนั้น ผู้ที่จบการศึกษาทางด้านโลจิสติกส์ ซัพลายเชนยังเป็นที่ต้องการมากในตลาดแรงงาน วัดจากผลการสำรวจของ NACE
อันดับ 10 : เศรษฐศาสตร์ (Economics)
เศรษฐศาสตร์ เป็นสาขาวิชาที่มีความจำเป็นและสำคัญมากตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยศึกษาด้านการผลิต การกระจาย การบริโภคสินค้าและบริการ รวมไปถึงการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ ถือเป็นศาสตร์ที่จำเป็นมากต่อธุรกิจต่างๆ รวมไปถึงการเงิน ในมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยธุรกิจของประเทศอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะนิยมสอนทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่เรียกว่าเศรษฐศาสตร์แบบสำนักคลาสสิกใหม่ (Neo – Classical Economics)
อันดับ 10 : การตลาด (Marketing)
จากการสำรวจโดย NACE รายงานว่าสาขาวิชาการตลาด และเศรษฐศาสตร์ ทั้ง 2 สาขาวิชาเป็นสาขาที่นายจ้างต้องการมากเป็นอันดับที่ 10 ครองอันดับร่วมกันโดยมีจำนวนนายจ้างที่ต้องการ 64 ราย คิดเป็น 35.6% เป็นสาขาวิชาที่มีความจำเป็นและสำคัญมากต่อธุรกิจ
source: eduzones